เคยได้ยินคอนเซปต์ The Fifth Wave of Computing ไหมครับ? คอนเซปต์นี้จะกล่าวถึงการผนวกควบรวมของนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ 3 อย่างเข้าไว้ด้วยกันคือ AI, IoT และ 5G สาเหตุที่ผมหยิบยกคอนเซปต์นี้มาให้ฟังก็เพราะว่า เทคโนโลยีเหล่านี้คือสิ่งที่สามารถสร้างตัวตนได้เองโดยธรรมชาติ กล่าวคือมันวิวัฒนาการตัวเองได้ และแต่ละเทคโนโลยีก็มีฟังก์ชันการใช้งานและความสามารถที่แตกต่างกัน ซึ่งหากนำคอนเซปต์นี้มาเปรียบเทียบกับ Metaverse แล้วจะเข้าใจได้ดังนี้ครับ
- AI จะช่วยสร้าง Machine Learning เรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้งาน เข้าใจ Insights เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกได้ ซึ่ง Metaverse ก็ใช้ประโยชน์จาก AI ช่วยสร้างตัวละครหรือสภาวะแวดล้อมในโลกเสมือนขึ้นมา ผ่านอุปกรณ์เสริมหรือชุดคำสั่งได้ ดั่งที่พบได้ในตัวอย่างของ Promethean AI ตามนี้ครับ
- IoT (Internet of Things) บ้านสมัยใหม่หลายหลังเริ่มปรับตัวให้เป็น Smart Home มากขึ้น เพียงแค่มีมือถือเครื่องเดียวก็สั่งงานได้ทั้งบ้าน เมื่อนำมาปรับใช้กับ Metaverse ระบบนี้จะเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมอย่างแว่น VR และ Controller Stick พาคุณเข้าไปยังโลกเสมือน เชื่อมต่อตัวเราเข้ากับแพลตฟอร์มและผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต
- 5G หลังการประกาศปรับโครงสร้าง Facebook ให้รองรับระบบ Meta มากขึ้น การใช้งานอินเทอร์เน็ตจึงจำเป็นต้องเร็วตาม เพราะการสื่อสารจะไม่ได้หยุดแค่การโทรหรือวิดีโอคอลอย่างเดียว แต่จะได้เห็นบุคคลเสมือนแบบเป็น ๆ โผล่มาทั้งตัวเลย ฉะนั้นเครือข่าย 5G จะกลายเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ตอนนี้เราพอจะเข้าใจเทคโนโลยีอื่นที่เข้ามาใช้ร่วมกันกับ Metaverse แล้ว ต่อจากนี้จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพหรือเทคโนโลยีใดบ้างที่เริ่มมีการนำ Metaverse มาใช้บ้างแล้ว ที่ธุรกิจหลายเจ้าควรเริ่มปรับตัวเพื่อหาลูกค้าใหม่ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกจังหวะของชีวิต
Metaverse เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอะไรบ้าง
1. AR, VR, MR และ XR
- AR หรือ Augmented Reality มีชื่อไทยว่า ความเป็นจริงเสริม คือการนำโลกเสมือนเข้ามาผนวกกับโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งสามารถใช้งานได้บนอุปกรณ์ทั่วไปอย่าง มือถือ ไอแพด หรือแท็บเล็ต ในมุมมองของผู้ใช้งานจะเห็นเป็นภาพสามมิติที่ลอยอยู่เหนือวัตถุหรือสภาพแวดล้อมในโลกจริง ในวงการธุรกิจเริ่มมีการใช้ AR เข้ามาผสานกับการขายสินค้ากันบ้าง เปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ ว่าสินค้าที่เลือกจะดูเป็นอย่างไรเมื่อมาอยู่ในมือเราจริง ๆ แบบที่ไม่ต้องไปเดินเลือกดูถึงหน้าร้าน
- VR หรือ Virtual Reality ความเป็นจริงเสมือน เป็นการนำจำลองสภาพแวดล้อมขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในโลกเสมือน และเปิดให้เรารับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 4 (รูป เสียง กลิ่น รู้สึก) ซึ่งจะแยกความรับรู้ของเราออกจากโลกความจริง (ไม่ใช่การโอนถ่ายจิตเหมือนที่เห็นกันในหนังนะครับ เพียงแค่เราให้ความสนใจต่อ VR มากจนตัดการรับรู้ออกจากโลกจริงไปช่วงเวลาที่ใส่ VR เท่านั้น) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเทคโนโลยี VR ยังไม่ได้เผยแพร่กันไปอย่างกว้างขวางเท่าที่ควร เนื่องจากยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ อุปกรณ์หลักและเสริมมีหลายชิ้น ราคารวม ๆ แล้วค่อนข้างแพง จึงยังไม่มีใครนิยมซื้อมาไว้ติดบ้านเท่าไหร่ ยกเว้นคุณเป็นสายเกมเมอร์ ยูทูบเบอร์อยู่แล้ว หากทว่าถ้าเห็นความสำคัญของ VR แล้วล่ะก็ การมีเทคโนโลยีแบบนี้ติดบริษัทไว้ก็พัฒนาองค์กรได้ดีขึ้นได้ครับ
- MR หรือ Mixed Reality เป็นการนำ VR และ AR มาผสมโรงเข้าด้วยกัน เป็นอีกก้าวหนึ่งที่ก้าวหน้ายิ่งกว่า วัตถุที่มองเห็นจะมีมิติที่สมบูรณ์มากขึ้นไม่ลอยไปลอยมาเหมือน AR สามารถตอบสนองต่อการกระทำของเราได้ เช่น ถ้าผลักลูกบอลโดนกำแพง ก็จะเด้งกลับมาเหมือนในโลกจริง ตัว MR พึ่งพาเพียงแค่อุปกรณ์ตัวเดียวคือแว่น MR ไม่ต้องใช้ถุงมือหรือ Controller Stick ในการควบคุมโลกเสมือน ตัวแว่นจะทำงานซ้อนภาพเสมือนทับกับภาพในโลกจริง เพียงแค่ขยับมือภาพเหล่านั้นก็จะเคลื่อนไหวไปตามท่าทางของคุณ ซึ่งเทคโนโลยี MR ที่เตรียมวางจำหน่ายก็มี อาทิ Magic Leap One, Microsoft HoloLens และ Apple MR headset (2022)
- XR หรือ Extended Reality เป็นส่วนขยายความเป็นจริง เป็นขั้นที่ยิ่งกว่า AR, VR และ MR เพราะเป็นการนำทั้งสามอย่างมาผสมรวมกัน สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับเครือข่ายและมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริง ๆ ในโลกเสมือนกับผู้ใช้คนอื่น ๆ ซึ่งสามารถควบคุมการใช้งานได้ผ่านคำสั่งท่าทาง (Gesture) หรือผ่านอุปกรณ์ควบคุม (Controller) ด้วยความพิเศษของเทคโนโลยีนี้ที่ไปไกลกว่าตัวอื่น ๆ ทำให้ในตอนนี้เทคโนโลยี XR ยังถูกจำกัดอยู่เฉพาะกิจกรรมของงานอุตสาหกรรม ในด้านการฝึกทักษะแรงงาน การซ่อมบำรุง การออกแบบและการตรวจสอบวิเคราะห์ประสิทธิภาพเท่านั้น
ตอนนี้ หากคุณอยากทดลองใช้เทคโนโลยี AR แบบที่ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์คุณก็สามารถเข้าใช้งานได้ง่าย ๆ สบาย ๆ ครับคลิกที่ลิงก์นี้ app.spatial.io โปรแกรมนี้คือโปรแกรม Meeting ประชุมกันครับ คล้าย ๆ Zoom หรือ Google Meet แต่จะเพิ่มลูกเล่นตรงที่เราสามารถสร้าง Avatar เป็นโมเดลสามมิติ เลือกชุด เลือกสีผิวได้เอง และยังเลือกห้องประชุมได้หลากหลายทั้งแบบ Outdoor, Auditorium เป็นต้น ฟังก์ชันการใช้งานมีทั้งแชร์หน้าจอ วางรูป วางคลิป แปะโน้ต ฯลฯ ลองไปเล่นกันดูได้ครับ
2. คอนเสิร์ตโฮโลแกรม
บทความ Metaverse ฉบับเดือนที่แล้วผมเคยเขียนถึงวง K/DA นักร้องวงป็อปที่เพิ่งเดบิวต์ไปเมื่อปี 2018 ที่นักร้องเป็นตัวละครแอนิเมชันทั้งหมดจากเกม League of Legends ที่มีนักร้องตัวจริงมาพากย์เสียงให้ แต่หัวข้อนี้เราจะก้าวข้ามสูงขึ้นไปอีก เพราะไม่ใช่การร้องเพลงผ่านตัวการ์ตูนบนแอปฟังเพลงสตรีมมิ่งอีกแล้ว แต่ต่อจากนี้จะเป็นการจัดคอนเสิร์ตด้วยโฮโลแกรม! จะมีตัวละครหรือใครที่จัดคอนเสิร์ตโฮโลแกรมมาแล้วบ้าง ตามอ่านกันข้างล่างได้เลยครับ
ตัวอย่างคอนเสิร์ตโฮโลแกรม
-
Hatsune Miku
คือตัวละครหญิง Vocaloid (Vocal + Android) สาวน้อยแอนดรอยด์จากโปรแกรมเสียงสังเคราะห์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ๆ ในโลก ปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2007 พัฒนาโดย คริปตันฟิวเจอร์มีเดียและนักพากย์ชาวญี่ปุ่น ซากิ ฟูจิตะ มาร่วมให้เสียง ซึ่งเธอได้ออกทั่วคอนเสิร์ตทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ และใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรมในการจัดแสดง ทั้งยังมีเปิดให้รับชมผ่าน Live Streaming อีกด้วย
ตัวอย่างงานคอนเสิร์ตของ Miku
-
Michael Jackson
ตำนานราชาเพลงป็อปผู้ล่วงลับไปนานนับทศวรรษ ได้ถูกปลุกขึ้นมาจัดงานคอนเสิร์ตที่งาน Billboard Music Awards 2014 ทางทีมงานได้เลือกเพลง Slave to the Rhythm ซิงเกิลเพลงในอัลบั้ม Xspace ซึ่งเป็นเพลงบางส่วนที่ไมเคิลยังทำไม่เสร็จก่อนปล่อยเพลง และนำมาดัดแปลงเพิ่มเติมให้สมบูรณ์
รับชมคลิปการแสดงครั้งสุดท้ายของราชาเพลงป็อปผู้ล่วงลับที่นี่
-
D2B
ใครว่าฝั่งไทยจะไม่มีอะไรแบบนี้ จริง ๆ มีครับ เพราะเป็นเรื่องราวของสามหนุ่มวง D2B วง Tpop ในตำนานที่ยังมีแฟนคลับคนไทยหวนคิดถึงกันอยู่ บิ๊กปรากฏตัวครั้งแรกในงานคอนเสิร์ต D2B Live Concert 2014 (ปีเดียวกับของไมเคิล แจ็กสัน) ที่ออกมาเพียงแค่ 1 นาที แต่ก็สร้างเสียงฮือฮาให้ผู้ชมมากมายในเพลง ซ่าส์ ซึ่งใช้เทคโนโลยี AI Face Tracking แบบเดียวกับที่ใช้ในภาพยนตร์ต่างประเทศ และทำการตัดต่อเข้ากับนักแสดงที่มีหน้าคล้ายบิ๊กก่อนจะพามาขึ้นคอนเสิร์ตอีกครั้งกับ D2B Infinity Concert 2019
รับชมการปรากฏตัวของบิ๊กได้ที่นี่
3. Motion Capture
เรียกสั้น ๆ ว่า Mocap เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีการศึกษาและพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี 1970 โดยครั้งแรกถูกนำมาเพื่อพัฒนาทางการทหาร ภายหลังจึงถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาสื่อบันเทิงตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา เทคโนโลยีชนิดนี้ใช้บันทึกการเคลื่อนไหวของบุคคลหรือวัตถุ และโอนถ่ายข้อมูลการตอบสนองเหล่านั้นมาสู่การสร้างตัวละครเสมือนจริงสำหรับภาพยนตร์หรือตัวละครเกม แต่ในความจริงเทคโนโลยีนี้ถูกใช้กันหลากหลายมากทั้งการบันทึกการเคลื่อนไหวเพื่อใช้ในการออกแบบอุปกรณ์กีฬา การเกษตร และระบบการดูแลสุขภาพ
ประเภทของ Motion Capture จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน
1. ประเภทเชิงกล (Mechanical)
นักแสดงจะใส่ชุดที่ประกอบจากโลหะเป็นส่วน ๆ โดยมีเซนเซอร์ติดอยู่บนชิ้นส่วนแต่ละชิ้น เพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวของร่างกาย ข้อดีคือจะไม่ถูกรบกวนจากแสงหรือสนามแม่เหล็ก แต่ข้อเสียคือไม่สามารถตรวจจับระยะที่อยู่สูงจากพื้นเช่น การกระโดดได้ และอุปกรณ์เสริมจำเป็นต้องถูกปรับแต่งบ่อยครั้ง ไม่สามารถระบุตำแหน่งของเซนเซอร์ได้แม่นยำ
2. ประเภทเชิงแสง (Optical)
นักแสดงจะใส่ชุดที่มีจุดสะท้อนแสง และมีกล้องจับภาพอยู่รอบ ๆ จุดสะท้อนแสงจะใช้เพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของนักแสดง ข้อดีคือนักแสดงจะสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ เพราะไม่มีสายมาโยงกับอุปกรณ์สามารถใช้กับวัตถุขนาดใหญ่หรือวัตถุหลายชิ้นได้ และยังได้ข้อมูลที่มีความละเอียดอีกด้วย ข้อเสียคืออาจเกิด
การรบกวนของแสงจากภายนอก จุดสะท้อนแสงอาจแตกหักเนื่องจากปัจจัยจากการแสดง ทำให้สูญเสียข้อมูลบางส่วน และการประมวลผลแต่ละครั้งใช้เวลานาน
3. ประเภทเชิงแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic)
นักแสดงจะใส่ชุดที่มีแถวตัวรับสนามแม่เหล็กที่กำหนดตำแหน่งเทียบตัวส่งสัญญาณ ข้อดีคือสามารถตรวจจับตำแหน่งได้ชัดเจน วัดรอบการหมุนของวัตถุได้ ทำงานแบบเรียลไทม์ ราคาถูกกว่าแบบเชิงแสง ข้อเสียคือหากตัวรับ-ส่งสัญญาณอยู่ไกลกันมากขึ้น สนามแม่เหล็กที่ส่งผ่านข้อมูลอาจบิดเบือนจากพื้นซีเมนต์ (โครงสร้างตึกทั่วไปมีเหล็กเส้นเป็นแกนค้ำ) ทำให้ความเร็วในการรับข้อมูลต่ำ ไม่สามารถนำมาใช้ในทางกีฬาได้
ตัวอย่างภาพยนตร์และเกมที่ใช้ Motion Capture อาทิ Avatar, Pirates of the Caribbean, Apex Legends, League of Legends เป็นต้น
เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถสร้างตัวละครจากโลกคนจริง ไปออกแบบในโลกเสมือนได้แล้ว เป็นอีกหนึ่งวิธีการผลิต Metaverse เลยล่ะ
4. NFTs
ตัวนี้โด่งดังพอ ๆ กับกระแสคริปโตฯ เลยก็ว่าได้ NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token จัดว่าเป็นคริปโตฯ ประเภทหนึ่งที่ผู้เป็นเจ้าของสามารถแสดง “ความเป็นเจ้าของ” ต่อสินทรัพย์ดิจิทัลได้ มีเพียงชิ้นเดียวบนโลก ไม่สามารถทำซ้ำ คัดลอก หรือลบออกได้ ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูง เช่น ผลงานศิลปะ ภาพถ่าย เพลงเสียงสังเคราะห์ ของสะสมในเกมที่หายากมาก ๆ หรือสินค้าแฟชั่น ซึ่งผลงานเหล่านี้สามารถอัปขึ้นออนไลน์ไปขายต่อ โอนกรรมสิทธิ์ได้โดยไม่ผ่านคนกลาง เพราะทำผ่านระบบ Blockchain และยังสามารถตรวจสอบการซื้อ-ขายย้อนหลังได้อีกด้วย
นอกจากนี้หากไอเทมบางอย่างที่นำมาเสนอขายยิ่งมีความโดดเด่นมาก หาได้ยาก และเป็นที่ต้องการสูง ก็จะเกิดการประมูลกันเกิดขึ้นเพื่อให้ได้ไอเทมชิ้นนั้นมาครอง
รู้สึกคุ้น ๆ คอนเซปต์นี้ไหมครับ ความจริงแล้วคอนเซปต์นี้เราเคยเห็นมาแล้วในภาพยนตร์ Ready Player One ที่เหล่าตัวละครใน Metaverse ต่างออกตามหาไอเทมชิ้นสำคัญ (NFT) ในเกมเพื่อไขปริศนานั่นแหละครับ ในความเป็นจริง NFT และ Metaverse มีความเกี่ยวข้องกันชนิดที่เรียกว่าถ้อยทีถ้อยอาศัยกันเสียมากกว่า เราสร้าง Metaverse ขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางในโลกเสมือนเชื่อมต่อทุกคนจากทางไกล ส่วน NFT ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสิ่งชักจูงให้ผู้คนอยากเข้ามาในโลกเสมือนกันมากขึ้นคล้าย ๆ เกมแนว Play to Earn ที่ให้เข้ามาเล่นเพื่อสร้าง NFT และคริปโตในเกมและนำมาขายต่อแลกเป็นเงิน Fiat นั่นแหละครับ
5. Virtual Museum
ย้ายประวัติศาสตร์ทั้งมวลมาไว้ในโลกดิจิทัลกับพิพิธภัณฑ์เสมือน ที่เป็นแหล่งเก็บรวบรวมรูปภาพ ไฟล์เสียง เอกสารงานเขียน และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอื่น ๆ แต่ว่าพิพิธภัณฑ์เสมือนไม่ใช่เจ้าของของสิ่งที่นำมาจัดแสดงจริง ๆ ฉะนั้นจึงอาจขาดความคงทนถาวรของวัตถุโบราณในพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากในโลกจริงพิพิธภัณฑ์เสมือนจะขึ้นตรงต่อเว็บไซต์หรือโฮมเพจที่ทางพิพิธภัณฑ์ดูแลอยู่ และการจัดแสดงจะขึ้นอยู่กับคอลเลกชันในแต่ละช่วงของปี ซึ่งในหน้าโฮมเพจของเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วย ช่วงเวลาเปิด-ปิด นโยบายของพิพิธภัณฑ์ และการให้บริการ และรวมไปถึงแผนที่ชั้นต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑ์
ตัวอย่างพิพิธภัณฑ์เสมือน ที่เกิดขึ้นจริงแล้วบนโลกได้แก่ British Museum, London, Guggenheim Museum, New York, National Gallery of Art, Washington, D.C., Musée d’Orsay, Paris ฯลฯ รวมถึงประเทศไทยก็เริ่มมีแล้วเช่นกัน อย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ณ นคร สามารถเข้าไปสำรวจพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ได้ที่ https://www.travelandleisure.com/attractions/museums-galleries/museums-with-virtual-tours
6. การผ่าตัดทางไกล Virtual Surgical Operation Room
เมื่อข้างต้นผมได้เล่าถึงเทคโนโลยี AR VR MR และ XR ไปแล้ว นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่ง Case Study น้ำดีจากตัวอย่างข้างต้นที่อิงการใช้งานโลก Metaverse มาผสมอยู่นิดหน่อย
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ทางสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งเอเชียได้มีการฝึกซ้อมผ่าตัดมะเร็งปอดผ่านการใช้งานแพลตฟอร์ม Metaverse ผ่านการประชุมออนไลน์ ซึ่งการฝึกผ่าตัดครั้งนี้จัดขึ้นที่ห้องผ่าตัดอัจฉริยะของโรงพยาบาล Seoul National University Bundang ศัลยแพทย์มากกว่า 200 ท่านได้รับการฝึกซ้อมการผ่าตัดทรวงอกจากห้องแห่งนี้ผ่านสภาพแวดล้อมที่เป็นโลกเสมือนจริงทั้งหมด และอุปกรณ์การแพทย์ที่เหล่าหมอฝึกหัดจะต้องใช้สำหรับการฝึกฝนในครั้งนี้คือ จอแสดงผลแบบสวมศีรษะ (Head-Mounted Display / HMD) คืออุปกรณ์ที่ใช้สวมศีรษะและแสดงภาพจำลองการผ่าตัดบนตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง แต่เมื่อไม่นานมานี้หลังการอัปเกรดห้องผ่าตัดแบบใหม่ทำให้ศัลยแพทย์แทบจะไม่ต้องใช้ HMD ในการผ่าตัดเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่มองด้วยกล้องที่หันได้ 360 องศาผ่านหน้าจอแท็บเล็ตเท่านั้น
ศ. นพ. Jheon Sang-hoon ผอ. สมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งเอเชีย ณ แผนกหัวใจและทรวงอกของโรงพยาบาลบุนดังมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลได้ผลักดันให้มีการสร้างห้องผ่าตัดเสมือนจริงนี้ขึ้นมาในสมัยที่เขายังดำรงตำแหน่งผอ. ของโรงพยาบาลอยู่ ซึ่งในห้องผ่าตัดนี้ ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยี Image-Guided Surgery (IGS) โดยใช้รังสีอินฟราเรดระยะใกล้และจอแสดงผลที่รองรับกล้องเอนโดสโคปสำหรับการผ่าตัดแบบ 4K และ 3D พร้อมกัน
ยิ่งไปกว่านั้นทีมแพทย์ยังสามารถแบ่งปันความคิดเห็นแบบเรียลไทม์โดยใช้ระบบ “Tele-Pathology” ได้ด้วย นพ. Jheon Sang-hoon กล่าว ภายหลังความสำเร็จของการใช้งาน VR เข้ามาร่วมกับห้องผ่าตัดเสมือนของโรงพยาบาลบุนดัง ทางโรงพยาบาลกลางของสิงคโปร์ก็ได้ตัดสินใจนำเข้าห้องผ่าตัดเสมือนของเกาหลีมาปรับใช้กับของตัวเองดูบ้าง
โรงพยาบาลบุนดังยังได้วางแผนที่จะใช้เทคโนโลยี Metaverse ให้คุ้มค่ามากขึ้นโดยปรับไปใช้กับการฝึกอบรมการแพทย์ในท้องถิ่น ไม่เฉพาะกับนักเรียนแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่จะพร้อมสำหรับการฝึกฝนผู้อยู่อาศัย และนักศึกษาฝึกงานในโรงเรียนแพทย์อีกด้วย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโซลจะจัดการฝึกอบรมทางคลินิกแบบ Metaverse เข้าไปด้วย
นี่แหละครับคือผลผลิตมวลรวมของการแตกแขนงเทคโนโลยี Metaverse ออกมามากมาย ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้างเกมและภาพยนตร์ในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปสู่อาชีพหรือการทำงานรูปแบบอื่น ๆ เข้าไปอีกด้วย ที่เหลือต่อจากนี้ไปจะเป็นงานของเหล่านักธุรกิจและนักการตลาดที่จะต้องหาทางนำ Metaverse เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดให้ได้ไม่ว่าจะเป็นการใช้ VR AR MR เข้าช่วย หรือจะใช้งานเหมือนกับพิพิธภัณฑ์เสมือนก็ได้ เพราะนี่คือยุคโลกมายาเสมือน ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้
——————————————————————–
ร่วมงานกับทีม Cotactic Digital Marketing Agency หนึ่งในบริษัทโฆษณาออนไลน์ชั้นนำของเมืองไทย ที่จะช่วยให้คุณตอบโจทย์การหาลูกค้าให้คุณได้ตามเป้าหมายแบรนด์ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Brand Awareness หรือ Lead Generation ก็ทำได้หมด ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญกับทีมรับทำเว็บไซต์ WordPress จาก Cotactic เพื่อให้เราเป็น Collaborative Marketing Partner ทำงานเป็นทีมร่วมกันกับคุณ
——————————————————————–
ติดต่อ
โทร.065-095-9544
Inbox: https://m.me/cotactic
Line@: https://line.me/R/ti/p/@cotactic
ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล
https://www.theconcert.com/news/inter-music/546
https://edition.cnn.com/2021/03/17/business/what-is-nft-meaning-fe-series/index.html
https://www.travelandleisure.com/attractions/museums-galleries/museums-with-virtual-tours