ทุกคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ชัยชนะเป็นสิ่งที่หอมหวาน” ไม่ว่าจะเป็นการชนะในรูปแบบใด การได้อยู่อันดับหนึ่งคือสิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันบนเกมออนไลน์ หรือ ชนะผู้อื่นในกิจกรรมการแข่งขันต่าง ๆ ความสนุกที่เต็มไปด้วยความเร้าใจ มีรางวัลใหญ่ที่หน้าตื่นตารออยู่ที่ปลายทาง ยากที่ใครหลาย ๆ คนจะปฏิเสธ เมื่อนักการตลาดเห็นช่องทางความสนุกของเกม จึงนำมาผสมผสานกับการตลาด กลายเป็นกลยุทธ์ที่เรียกว่า Gamification
Gamification คือ ?
Gamification คือ กิจกรรมทางการตลาดของธุรกิจ ที่นำมาประยุกต์กับการเล่นเกม โดยจะนำกติกาของเกมและลักษณะการแข่งขัน มาออกแบบกิจกรรม เช่น ระบบการให้คะแนน, การไต่อันดับ, สิทธิ์ที่จะได้รับของผู้ชนะการแข่งขัน ผู้บริโภคจะรู้สึกถึงความตื่นเต้น อยากได้รับชัยชนะ เหมือนตัวเองนั้นกำลังเล่นเกมอยู่จริง ๆ โดยธุรกิจสามารถนำ Gamification มาสร้างกลยุทธ์ จัดทำแคมเปญ กระตุ้นความน่าสนใจต่อกลุ่มผู้บริโภค ทั้งการดึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์
องค์ประกอบของ Gamification
นักการตลาดจะนำองค์ประกอบของเกมที่ใช้เล่นจริง ๆ มาใส่ในตัวกิจกรรม แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเล็กน้อย เพื่อให้เข้ากับภาพลักษณ์ของแบรนด์และเข้ากับกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจ Gamification จึงมีองค์ประกอบส่วนสำคัญ ที่นำมาใช้เป็นกฎเกณฑ์ในการร่วมกิจกรรม ดังนี้
-
เป้าหมาย (Goals)
เป้าหมาย คือสิ่งที่ผู้ร่วมกิจกรรมคาดหวังให้ตัวเองมีชัยชนะ หรือ เป็นอันดับหนึ่งของการร่วมกิจกรรม เพื่อของรางวัลที่เป็นของตอบแทน เป็นการสร้างแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม
-
กฎ (Rules)
สร้างกฎเกณฑ์ของกิจกรรมขึ้นมา เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน และควบคุมกติกาให้ผู้ที่มีส่วนร่วมคำนึงถึงแบรนด์สินค้าเป็นส่วนสำคัญหลักของกิจกรรม
-
ความขัดแย้ง การแข่งขัน หรือความร่วมมือ (Conflict, Competition, or Cooperation)
สำหรับกิจกรรมทางการตลาดความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นได้น้อย เนื่องจากกิจกรรมใช้สินค้าของแบรนด์เป็นตัวกลางในการตัดสิน จะไม่มีการใช้ความรู้สึกส่วนตัวของผู้ร่วมกิจกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง จนบางครั้งผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมมือกันด้วยดีเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งโดยส่วนมากจะมาจากผู้ ที่โชคดีจากกิจกรรม หรือ ผู้ที่ทำตามกติกาได้เป็นอย่างดี
-
เวลา (Times)
ช่วงเวลาของการทำกิจกรรม ไม่ควรเป็นช่วงระยะเวลาที่สั้นมากจนเกินไป เพื่อการติดตามการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อแบรนด์ และการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากขึ้น
-
รางวัล (Reward)
รางวัลกิจกรรมแต่ละแคมเปญ สามารถเป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์สินค้า ควรมีความเหมาะสมกับอันดับของผู้โชคดีจากกิจกรรม และควรมีของรางวัลที่หลากหลายเพื่อแทนคำขอบคุณสำหรับผู้ที่เข้ามาร่วมกิจกรรม
-
คำแนะนำ (Feedback)
ติดตามผลหลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับ มาพัฒนาให้ตัวกิจกรรมไปในแนวทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และไม่เป็นปัญหาให้กับธุรกิจในภายหลัง
-
ระดับ (Levels)
Levels ประสบการณ์การมีส่วนร่วมบนกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอาจไม่ได้รับรางวัลใหญ่จากกิจกรรม แต่มีส่วนร่วมบนกิจกรรมที่แบรนด์จัดขึ้น เปรียบเหมือนกับบทบาทในเกม ที่ผู้เล่นอาจไม่ได้มีฝีมือที่โดดเด่นมากนัก แต่มีการเข้าเล่นเกมอย่างสม่ำเสมอ
-
ตารางอันดับคะแนน (Leaderboard)
Leaderboard ของเกมจะแสดงอันดับ การแข่งขันของผู้เล่นแบบเรียลไทม์ เมื่ออยู่ในรูปแบบกิจกรรม ก็คือการแสดงผลอันดับของผู้ร่วมกิจกรรม เช่น ผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลจากกิจกรรมรางวัลที่ 1, 2, 3 เรียงตามลำดับ
ทำไมธุรกิจจึงควรใช้ Gamification Marketing
การนำกลยุทธ์ Gamification Marketing เข้ามาร่วมใช้ในการตลาด เป็นการเพิ่มความสนุกสนานให้กับกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่นิยมเล่นเกม ชอบความท้าทายเพื่อความสนุก เมื่อแลกกับรางวัลที่เป็นเป้าหมายหลัก เป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ทุกคนนั้นมีส่วนร่วมกับเกม
-
คนชอบเล่นเกมกันเป็นปกติ
จากการละเล่นของเด็กในสมัยก่อนพัฒนามาเป็นวิดีโอเกม แสดงให้เห็นว่าคนไทยกับการเล่นเกมอยู่คู่กันมานาน ไม่ว่าจะเป็นเด็กจนถึงผู้ใหญ่ ย่อมมีเกมอยู่ในโทรศัพท์อย่างน้อยสักหนึ่งเกมอย่างแน่นอน
-
คนชอบการชนะการเล่นเกม
การได้อยู่อันดับที่สูงที่สุดของเกม หรือ การชนะคู่แข่งขัน ยิ่งทำให้ผู้ชนะรู้สึกดี ภาคภูมิใจในตัวเอง การชนะในกิจกรรมก็เช่นเดียวกัน การชนะคู่แข่งขันที่มีจำนวนมาก ได้รับรางวัลที่ตัวเองคาดหวัง ความรู้สึกของผู้ที่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมย่อมเป็นไปในแนวทางที่ดี
-
เกมสร้างความภักดีต่อแบรนด์
ระยะเวลาของการทำกิจกรรมจะเป็นระยะยาว เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ร่วมกิจกรรมให้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้ในช่วงหนึ่ง ควรเป็นกิจกรรมที่ผู้มีส่วนร่วมซื้อสินค้ากับแบรนด์เป็นระยะยาว ยิ่งมีสิทธิพิเศษให้แก่ผู้มีส่วนร่วม เป็นการดึงดูดความสนใจให้ผู้มีส่วนร่วมไม่ไปซื้อสินค้าของธุรกิจคู่แข่ง
-
สร้างประสบการณ์ที่ดีต่อลูกค้า
การทำธุรกิจในออนไลน์ สิ่งที่ผลเสียต่อธุรกิจคือการขาดปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า Gamification จึงมีส่วนช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มเป้าหมาย นำความสนุกสนานของกิจกรรม ทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกที่ดีกับแบรนด์ และเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายขึ้น ผ่านการให้ข้อมูลของสินค้าที่เป็นตัวกลางระหว่างกิจกรรมกับเกม
ขั้นตอนการทำ Gamification Marketing
รูปแบบของเกมมีหลากหลายประเภทตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย การนำกลยุทธ์ gamification มาใช้ต้องวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ก่อนคิดรูปแบบเกมมาใช้เป็นกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมาย
-
วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย
แบรนด์ต้องคำนึงถึงลักษณะของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก เพื่อออกแบบเกมกิจกรรมที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง เช่น ถ้ากลุ่มเป้าหมายมีอายุเยอะ เกมกิจกรรมควรเป็นอะไรที่ง่าย และไม่ซับซ้อน
-
วางแผนก่อนจัดแคมเปญ
ช่วยวางทิศทางของกิจกรรม มองเห็นภาพรวมว่ามีลำดับขั้นตอนการทำงานอย่างไร มีงานอะไรบ้างที่ต้องจัดเตรียม ลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการจัดกิจกรรมจริง
-
สร้างการมีปฏิสัมพันธ์ในแคมเปญ
ปฏิสัมพันธ์ที่ดีควรเริ่มจากแบรนด์ที่จัดกิจกรรม ทั้งการแจ้งข้อมูลของกิจกรรมอย่างละเอียด การดูแลผู้มีส่วนร่วมระหว่างจัดกิจกรรม ทั้งความยุติธรรมแก่ผู้ส่วนร่วมที่เข้าแข่งขันทุกคน ผู้ที่มีส่วนร่วมจะมีความรู้สึกเชิงบวกกับแบรนด์ และจะเป็นการแข่งขันที่ไร้ความเครียดหรืออารมณ์ด้านลบปะปน
-
ตั้งเป้าหมายในการจัดแคมเปญ
ส่วนสำคัญของการจัดกิจกรรมนั้นคือความสนุกก็จริง แต่เป้าหมายหลักของการจัดกิจกรรมคือภาพลักษณ์ของแบรนด์ สินค้าของแบรนด์ ต้องนึกถึงว่าจัดกิจกรรมอย่างไร ให้กลุ่มเป้าหมายเกิดภาพจำที่ดีต่อแบรนด์ต่อไปแม้จบกิจกรรมไปแล้วก็ตาม
หลักการตลาดจะไม่มีทฤษฎีที่ตายตัว เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า การตลาดที่ดีคือการตลาดที่ปรับตัวตามเทคโนโลยีและกลุ่มเป้าหมายเสมอ มีความทันสมัย อย่างเช่นกลยุทธ์ Gamification ที่พัฒนาจากความชอบ การเล่นเกมของกลุ่มเป้าหมาย มาเป็นหลักการตลาดที่สามารถดึงดูดใจแก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี
หากคุณต้องการที่ปรึกษาการรับทำเว็บไซต์ WordPress หรือทีมงานมืออาชีพด้านการทำ Online Marketing มาช่วยจัดการแก้ไขปัญหาและวางรากฐานให้ธุรกิจ ติดต่อ Cotactic เลยวันนี้
โทร.065-095-9544
Inbox: m.me/cotactic
Line: @cotactic
——————————————————————–