หลายครั้งเวลาฝ่าย Content Creator ต้องเขียนคอนเทนต์ SEO โปรโมทเว็บไซต์สักงานหนึ่งก็มักจะมีเสียงคำถามลอยเข้ามาเสมอว่า “อันนี้ทำ Backlink ด้วยมั๊ย?” “จะทำ Backlink ไปที่เว็บไหนดี?” สำหรับคนที่เป็นมือใหม่หรือผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มทดลองทำ SEO คงจะสงสัยแน่นอนว่า การทำ SEO และ Backlink คืออะไร? ซึ่งผมเคยกล่าวเอาไว้ในบทความก่อนหน้านี้อย่าง SEO Audit 16 วิธีปรับปรุงคอนเทนต์ให้ทันสมัย แต่ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกทุกคำถามให้ทุกคนเข้าใจกันง่าย ๆ กันครับ
ก่อนจะเข้าสู่หัวข้อที่เจาะลึกมากกว่านี้ เรามาแยกส่วนประกอบของคำเพื่อเพิ่มความเข้าใจกันก่อนครับ คำ ๆ นี้แยกออกมาได้คำว่า Back – ที่แปลว่ากลับเข้ามา และ Link – ที่แปลว่า การเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน แปลรวม ๆ กันจะได้ว่า “ลิงก์ที่เชื่อมโยงกลับเข้ามา” อ่านแล้วงง ๆ ใช่ไหมครับ ผมจะสรุปเป็นภาษาให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีก
Backlink คืออะไร?
Backlink คือ ลิงก์ที่เว็บไซต์อื่น ๆ เชื่อมกลับเข้ามายังเว็บไซต์ของเราผ่านทางเชื่อมหลังบ้าน เพื่อให้ Google รู้ว่าเว็บไซต์ที่ถูกเชื่อมกลับไป ได้รับการยอมรับจากเว็บอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคะแนนในการจัดอันดับ SEO ด้วย
แต่หลายคนก็คงสงสัยว่า “อ้าว! มันก็คือ External Link หรือเปล่า?” คำตอบคือไม่ใช่ครับ หลักการทำงานอาจจะคล้าย ๆ กันในหลาย ๆ ส่วน แต่ข้อแตกต่างอยู่ตรงที่
- External Link คือเชื่อมจากเว็บไซต์ของเรา “ออก” ไปเว็บไซต์ของคนอื่น อาจจะเป็นการแทรกแหล่งข้อมูลอ้างอิงเพิ่มความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์ฝั่งเรา
- Backlink คือจากเว็บไซต์อื่นเชื่อมกลับ “เข้า” มายังเว็บไซต์ของเราเป็นการบอก Google Search Engine กลาย ๆ ว่า เว็บไซต์นี้ดีมีคุณภาพสามารถเป็นแหล่งอ้างอิงให้เว็บไซต์อื่นได้ สมควรได้รับการจัดอันดับให้อยู่สูงขึ้นไป
Backlink สำคัญยังไง
จริง ๆ แล้วลิงก์ประเภทนี้มีหลายชื่อเรียกทั้ง “Inbound Links”, “Incoming Links” หรือ “One-way Links” ความสำคัญของมันอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ ช่วยเพิ่มการจัดอันดับเว็บไซต์ของเราให้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้นได้ เพราะเกิดจากการ “โหวต” กันจากเว็บไซต์อื่น ยิ่งเรามี “โหวต” จากเว็บอื่นมากเท่าไหร่ เว็บไซต์ของเราก็จะยิ่งติดอันดับมากขึ้นเท่านั้นครับ ซึ่งจัดเป็นหัวข้อพื้นฐานของการจัดอันดับหน้าผลการค้นหา หรือที่เรียกว่า Pagerank อยู่แล้วครับ ดังนั้นถ้าเว็บไซต์ไหนต้องการให้ติดอันดับหน้าผลการค้นหาสูง ๆ ล่ะก็ แนะนำให้ทำไว้ด้วยครับ
ประเภทของ Backlink ทั้ง 3
-
Editorial Links
Editorial Links หรือ Natural and In-Content Editorial Links เป็นแบล็กลิงก์แบบ Organic คือไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณาเลย เป็นคอนเทนต์คุณภาพที่มีแค่คุณเท่านั้นที่เขียนได้ ทำให้เว็บไซต์อื่นถึงกับรู้สึกว่าคอนเทนต์คุณมันดีเกินกว่าที่จะเก็บเอาไว้คนเดียว จึงต้องเอาคอนเทนต์คุณไปอ้างอิงแล้วเชื่อมกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของคุณ
-
Manual Links Building
คือลิงก์ที่เกิดจากคุณเขียนคอนเทนต์หรือ Rewrite คอนเทนต์ไว้หลาย ๆ อันแล้วนำไปใส่ไว้ในเว็บไซต์อื่นที่มีความน่าเชื่อถือสูง หรือจะเป็นการ “ซื้อ” ลิงก์โดยการส่งบทความเราให้เว็บไซต์เจ้าใหญ่ที่มีชื่อเสียง ลงคอนเทนต์เราแล้วเชื่อมกลับมาที่หน้าเว็บไซต์คุณ พยายามหลีกเลี่ยงเว็บไซต์ที่มีค่า DA ต่ำ เพราะ Google จะไม่นำไปจัดอันดับ และเผลอ ๆ อาจคิดว่าคุณคือ Spam อีกด้วย แต่ถ้าอยากลดรายจ่ายแล้วล่ะก็ แนะนำให้สร้างช่องทางเอาไว้ในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม ลงคอนเทนต์ทีเดียว แล้วอย่าลืมเชื่อมกลับมาที่หน้าเว็บไซต์คุณด้วย ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน Blockdit เปิดโอกาสให้นักเขียนฟรีแลนซ์ทั้งหลายเข้ามาหารายได้เสริมได้จากการเขียนบทความ สิ่งที่คุณทำก็แค่สร้างเพจของคุณแล้วเอาบทความของคุณไปลง พร้อมกับแปะลิงก์กลับมาที่หน้าเว็บไซต์คุณ เพราะถ้าคอนเทนต์มีคุณภาพ ยังไงผู้อ่านก็อยากกดกลับมาอ่านฉบับเต็มที่หน้าเว็บไซต์คุณอยู่แล้ว
-
Non-Editorial Links
ยกตัวอย่างเช่น Acknowledgment, Comment หรือ Press Release เป็นประเภทที่ให้ผู้ใช้งานเข้ามาคอมเมนต์บนช่องคอมเมนต์ของเว็บไซต์ต่าง ๆ พร้อมแปะลิงก์เชื่อมกลับมาที่เว็บไซต์ของพวกเขาเหล่านั้นด้วย หรืออีกกรณี คือหาเว็บไซต์สำหรับการทำ PR โดยเฉพาะ ในต่างประเทศเว็บไซต์เหล่านี้มักเสียเงิน แต่ที่ไทยจะเปิดให้ใช้ได้ฟรีสำหรับโฆษณาเว็บไซต์คุณโดยตรง แต่ทว่าปัจจุบัน Google กำลังลดความสำคัญของลิงก์ที่มาจากเว็บไซต์เหล่านี้ลง ฉะนั้นการโพสต์เว็บไซต์ลงบนเว็บเหล่านี้ Google จะไม่ช่วยจัดอันดับให้และอาจจะมองเว็บไซต์คุณเป็น Spam ได้อีก เลยทำให้ไม่ค่อยมีคนนิยมสร้างลิงก์จากวิธีนี้เท่าไหร่เพราะ ส่งผลเสียต่อการทำ SEO มากกว่าผลดี
แต่ก่อนที่เราจะเข้าสู่เนื้อหาหลักผมขอให้เริ่มจากการเช็กประสิทธิภาพ Backlink ก่อน ซึ่งมีเครื่องมือให้ใช้อยู่หลายตัวมาก สามารถค้นหาได้บน Google เลยครับ ซึ่งแต่ละเครื่องมือก็จะมีประสิทธิภาพและการใช้งานแตกต่างกันไปทั้งที่ใช้ฟรีได้และเสียเงิน แต่ที่ผมใช้เป็นหลักก็คือ SEMrush หรือ Ubersuggest
แนะนำเว็บไซต์ช่วยเช็กประสิทธิภาพ Backlinks ด้วย SEMrush
วิธีใช้งานหลังจากเข้ามาที่หน้าเว็บไซต์แล้ว คลิก Backlink Analytics ที่แผงด้านซ้าย > ใส่ Domain / URL ตัวอย่างการใช้งานเว็บ SEMrush จะเห็นว่าในช่องสีเหลืองสามารถเช็กระดับความน่าเชื่อถือของคู่แข่งในเวลาเดียวกันได้ด้วย
เมื่อเลื่อนลงมาด้านล่าง เว็บไซต์จะแสดงผลจำนวน Domain และลิงก์ที่อ้างอิงถึงทั้งที่เข้ามาใหม่และหายไป รวมไปถึงอันดับ Anchor Text สูงสุดที่มีในเว็บไซต์
แนะนำการใช้งาน Ubersuggest
เมื่อเข้ามาหน้าหลักได้แล้ว ใส่ URL ตามเลข 1. > กดเลือก Exact URL > และกด Search ได้เลย เราก็จะได้หน้าผลการวิเคราะห์มาแบบนี้ ในช่องสีชมพูคือค่าความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ (DA)
เลื่อนลงมาข้างล่างไม่ไกล จะพบกับเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีการเชื่อมลิงก์กลับเข้ามายังเว็บไซต์เรา ในกรอบสีเหลืองสามารถเลือกได้ว่าเว็บไหนที่ใช้ลิงก์ Dofollow หรือ Nofollow อยู่บ้าง และในส่วนของตาราง DA / PA ถ้าค่าไหนสูงแสดงว่าความน่าเชื่อถือจะสูงตามครับ
Dofollow, Nofollow คืออะไร? โคดลับ Backlink ที่ควรรู้
การทำความเข้าใจ Dofollow และ Nofollow เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราคำนวณปริมาณโคดทั้งสองไว้ในปริมาณที่พอดีได้จะทำให้ SEO Backlink ของเราติดอันดับได้ดีขึ้น และเช่นกันหากคำนวณปริมาณที่ไม่สมดุลกัน Google อาจมองว่าเว็บไซต์ของเราเป็น Spam ได้เช่นกัน
-
Dofollow
เป็นกระบวนการส่ง Search Engine และผู้ใช้งานทำการ Redirect เข้ามาที่หน้าเว็บไซต์อ้างอิงโดยตรง วิธีนี้จะทำให้ Search Engine สามารถนำข้อมูลทั้งของผู้ใช้งานและคุณภาพของคอนเทนต์ไปจัดอันดับค่า DA ส่งผลให้สามารถจัดอันดับเว็บไซต์ที่ถูกอ้างอิงให้อยู่ในอันดับสูงได้ ในทางกลับกันหากเจ้าของเว็บไซต์รายใหญ่เปิดให้ทุก ๆ หน้าคอนเทนต์เป็นแบบ Dofollow จะเปิดโอกาสให้เว็บไซต์เจ้าอื่นมาคอมเมนต์ทิ้งลิงก์เชื่อมออกไปนอกเว็บไซต์ได้ ส่งผลให้คนเข้ามาคอมเมนต์ในเว็บไซต์รายใหญ่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มจำนวน Traffic และ Reach มากขึ้นนั่นเอง
-
Nofollow
เป็นการห้ามไม่ให้ Search Engine เข้ามาตามลิงก์นี้ได้ ยกเว้นสร้าง Traffic เพื่อผู้ใช้งานเท่านั้น ดังนั้นเว็บไซต์ที่ถูกอ้างอิงจะไม่สามารถจัดอันดับค่า DA ได้ พบได้บ่อยใน Facebook ที่ตั้งค่าให้ทุกหน้าเป็น Nofollow เพื่อลดการทำ SEO Backlink บนแอปฯ แต่ในปัจจุบัน Google ก็ได้ยกเครื่องปรับปรุง Algorithm ใหม่หมดแล้ว แทนที่จะให้ Search Engine ตามลิงก์เข้าไปจัดอันดับ ก็ให้ตรวจนับเอาตามจำนวนแชร์ในแอปฯ แทน นั่นหมายความว่ายิ่งแชร์เยอะ ก็มีโอกาสได้อันดับสูง
พอเข้าใจกันมากขึ้นหรือยังครับ ต่อมาเราจะเจาะลึกเรื่องเกี่ยวกับลิงก์ชนิดนี้กันให้ลึกขึ้นไปอีก
ลำดับต่อไปเราจะมาดูกันว่าลิงก์ที่ดีควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
หลักการสร้าง Backlink ที่มีคุณภาพควรมีอะไรบ้าง
-
ต้องมาจากเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ มีความเชื่อมั่นสูง
เปรียบเทียบในชีวิตจริงว่าคุณไม่สบาย คุณมีทางเลือก 2 ทาง คือทานยาตามแพทย์สั่ง หรือ ทานยาตามใครสักคนที่แนะนำมาตอนคุณกำลังรอรถเมล์ เป็นคุณคุณจะเชื่อใครครับ? แน่นอน Google Algorithm เองก็คิดแบบนี้เหมือนกัน คอนเซปต์นี้เรียกว่า “Domain Authority” (DA) ยิ่งเว็บไซต์ทั้งสองฝั่งมีความน่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ Google ก็จะยิ่งจัดอันดับให้ดีขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้กลายเป็นเว็บไซต์คุณภาพไปเลยนั่นเอง ผมขอแนะนำเว็บไซต์ช่วยจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (DA) อย่าง Moz หรือ Websiteseochecker ให้ไปลองใช้งาน
-
เว็บที่ทำ Backlink กับเว็บไซต์ของคุณต้องมีความเกี่ยวข้องกัน
เมื่อมีการเชื่อมกันระหว่าง 2 เว็บไซต์ อีกสิ่งที่ Google อยากดูก็คือทั้ง 2 เว็บไซต์ต้องมีความเกี่ยวข้องกันในด้านเนื้อหาที่ลงหรือจุดประสงค์ของเว็บไซต์ ยกตัวอย่าง เว็บไซต์ Cotactic เป็นเว็บด้านดิจิทัลเอเจนซีโฆษณา ฉะนั้นเว็บที่เกี่ยวข้องควรเป็น สำนักข่าวที่ลงข่าวด้านธุรกิจ หรือเทรนด์การตลาดโดยเฉพาะเป็นต้น
-
ตำแหน่งของลิงก์ ยิ่งอยู่ด้านบนก็ยิ่งมีคนกดเข้ามากขึ้น
เพราะสมัยนี้คนเราขี้เกียจอ่านอะไรที่ยาว ๆ จับใจความยาก Hot Spot ของคอนเทนต์แต่ละหน้าจึงหนักไปที่ท่อนบนของเนื้อหา ดังนั้นการใส่ลิงก์ไว้ในจุดที่มองเห็นได้ง่ายจะเพิ่มจำนวนการคลิกได้มากกว่า
-
โคดลิงก์ที่ดีควรเป็น Dofollow tags
Backlink ที่ดีจะมีการฝังโคดลงในลิงก์พร้อมใส่ Keyword ลงไปด้วยเพื่อช่วยการจัดอันดับที่ดีขึ้น แต่หลายครั้งที่โคดเองก็มีใส่ “Nofollow” Tags เข้าไป ซึ่ง Google มักจะเมิน tag นี้ไปเลยครับ แต่อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วการเขียนโคดมักมาเป็นลักษณะ Dofollow จะสามารถติดตามลิงก์ไปเว็บอื่นได้ แต่ถ้าลิงก์ไหนมี Nofollow Tags แนะนำให้แก้ไขครับ แต่ใช่ว่า Nofollow จะไม่ดีเสมอไปเพราะหลายครั้งที่ Google ไม่ได้อาศัยการจัดอันดับจาก Tags พวกนี้ แต่อาศัยการจัดอันดับจากจำนวนการแชร์ อย่างแอปฯ Facebook ที่อาศัยการจัดอันดับ Organic ผ่านการแชร์เป็นต้น ทั้งนี้หมั่นคอยควบคุมไม่ให้จำนวน Nofollow Tags มีมากเกินไปจะดีที่สุด
-
หลีกเลี่ยงการฝากลิงก์กับเว็บ Spam
เพราะเว็บแนวนี้ปกติจะไม่ได้รับการจัดอันดับจาก Google อยู่แล้ว หากมีการใส่ลิงก์เข้าไป จะยิ่งทำให้อันดับหน้าเว็บของคุณลดลงอีกต่างหาก เผลอ ๆ Google อาจคิดว่าเว็บไซต์ของคุณคือ Spam เสียเอง แต่หากเจอลิงก์ Spam ที่เราไม่ได้เป็นคนสร้างก็ไม่ต้องกังวลเพราะยังไง Google ก็ไม่ได้สนใจอยู่แล้ว
-
เนื้อหาใหม่ ๆ เอามาลง Backlink บ้าง
เพราะคอนเทนต์เดิม ๆ ค่าความนิยมหรือค่า Keyword ก็จะลดลงตามไปด้วยวิธีที่จะรักษาอันดับเอาไว้ได้คือเขียนคอนเทนต์ใหม่ ๆ เอามาลง หรือจะปรับ Audit คอนเทนต์เดิมก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้ Google จัดอันดับ SEO ในตำแหน่งที่ดีขึ้น ทำให้มีคนเข้ามาเห็นได้เพิ่มมากขึ้น และถ้าคอนเทนต์คุณดีพอ เหล่า Content Creator จากที่ต่าง ๆ ก็จะเอาคอนเทนต์คุณไปอ้างอิงได้อีกต่อหนึ่ง
รวม 10 เทคนิคการสร้าง Backlink
Google Algorithm มีหลักการในการจัดอันดับลิงก์ให้ขึ้นหน้าแรกได้ อ้างอิงจากคุณภาพของคอนเทนต์นั้น ๆ โดยไม่สนใจเลยว่าจะมีลิงก์ที่อ้างถึงอยู่กี่อัน แต่ถ้าลิงก์เหล่านั้นล้วนมีคุณภาพและมีจำนวนเยอะ ส่งผลให้ Google จัดอันดับเว็บไซต์ของคนอื่นและของคุณอยู่ในอันดับสูงขึ้นไปอีก ก็ถือว่าคุณสอบผ่านแล้วล่ะครับ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้นได้ ก็ต้องมาลองฝึกสร้างลิงก์กันก่อน เริ่มที่ข้อแรกกันเลย
1. ทำคอนเทนต์ให้มีคุณภาพ
เพราะอันดับแรกสุดก่อนจะสร้างลิงก์กลับมาหาคุณได้ ต้องทำคอนเทนต์ให้มีคุณภาพ น่าจับตามองจากเว็บไซต์อื่น ๆ ซะก่อน ซึ่งหลักการทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพก็ไม่ได้มีอะไรมากเช่นการเขียนโดยใช้ภาษาเข้าใจง่าย เนื้อหาครบจบในเรื่องเดียว รูปภาพประกอบเข้าใจง่าย (ถ้ามี) เป็นต้น
2. สร้างหัวข้อคอนเทนต์ให้เป็นธรรมชาติ น่าดึงดูด
อาจเริ่มจากการตั้งชื่อหัวข้อให้มีความน่าสนใจก่อนก็ได้ตามแต่ละประเภท เช่น ทำบทความ List Mention: 16 วิธีทำ SEO Audit ง่าย ๆ หรือบทความประเภท Guidances คู่มือแนะนำผู้อ่าน: คู่มือเริ่มต้นใช้งาน WordPress เบื้องต้น ประมาณนี้ หากยังคิดไม่ออกอีก ลองใช้ Tool ช่วยหา Search Volume ในโซเชียลก็ได้ครับว่ามีคนสนใจหัวข้อนี้อยู่กี่คน
3. ปรับปรุง On-page และ Off-page SEO
ข้อนี้คือหลักการเขียนคอนเทนต์ SEO โดยทั่วไปเลยเช่น การค้นหา Keyword Search Volume, การเขียน Slug, Meta Title, Description, ใส่ Alt Text ในทุก ๆ รูป, Internal – External Links รวมไปถึงการทำ SEO Audit ด้วยเป็นต้น
4. สร้างรูปภาพประกอบหรือ Infographic ให้เข้าใจง่าย
เนื่องจากเนื้อหาในบทความบางอย่างถ้าอธิบายด้วยตัวอักษรปริมาณมากจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกเบื่อ เข้าใจยาก ไม่ยอมอ่านต่อ จึงทำให้ Infographic เข้ามาตอบโจทย์ซะมากกว่า เพราะอ่านง่าย ย่อยข้อมูลง่าย วิธีการทำก็คือ
- ค้นหาไอเดียการทำ Infographic ก่อน อาจจะลองหาเทรนด์ที่น่าสนใจตอนนี้ผ่าน Google Trends, Wisesight ก็ได้ แล้วนำไปหา Volume ผ่านเว็บอย่าง Buzzsumo
- ปรับแต่งให้ Infographic มีคุณภาพสูง เพราะหลายครั้งที่คนอ่านแล้วภาพแตก ภาพไม่ชัด ข้อมูลไม่ครบ ฉะนั้นถ้าคุณไม่มีทักษะการตัดแต่งรูป แนะนำให้จ้าง Outsource ดีกว่าครับ
- สุดท้ายมองหาเว็บไซต์ที่มีค่า DA สูง แล้วเอารูปของคุณไปฝากไว้กับเขา นี่เป็นวิธีที่เร็วที่สุดที่คุณจะถูกจัดอันดับเพิ่มความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
5. หาโอกาสในการสร้างลิงก์บนสื่อโซเชียล
วิธีที่ง่ายที่สุดในการหากลุ่มคนที่สนใจในธุรกิจคุณก็คือ การเอาไปโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook กลุ่ม / เพจ / ส่วนตัว Twitter, Yotube ต่าง ๆ แล้วลิงก์กลับมายังเว็บไซต์ของคุณ เพราะในแอปเหล่านี้จะมีปุ่มที่ช่วยแชร์หรือทวิตอยู่ด้วย ตรงนี้แหละที่ถือเป็นอีกปัจจัย Google จะนำไปจัดอันดับ วิธีการทำคอนเทนต์บนโลกโซเชียลมีหลากหลายวิธีมากครับ เช่น ติดต่อ Influencer ฝากผลงานของตัวเองไว้, ทำ Affiliate Marketing แปะลิงก์กลับมาที่เว็บไซต์ของคุณ ก็จะได้ค่า DA, Traffic และกลุ่ม Lead เพิ่มเข้ามาด้วย หรือหากคุณเป็นเว็บไซต์ที่ทำธุรกิจร้านค้าอื่น ๆ ด้วย ลอง Live แล้วแปะลิงก์ซื้อสินค้ากลับมาที่หน้าเว็บของคุณสิ ถ้าอยากรู้วิธี Live ยังไงให้คนจำแบรนด์เราได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น เข้าไปอ่านที่ 5 เทคนิค Live Facebook อย่างไรให้แบรนด์เป็นที่น่าจดจำ
6. ใช้ประโยชน์จาก Social Bookmark
Social Bookmark คือ บริการคั่นหน้าออนไลน์ สามารถเก็บเว็บไซต์ที่ชอบและแชร์ให้กับคนอื่นได้ ทั้งยังมีระบบโหวตให้คะแนนหรือให้ Badge พร้อมกับแสดงความเห็นลงบนหน้าเว็บของคุณได้ด้วย โดยนำคอนเทนต์ที่เสร็จแล้วไปแนะนำกับเว็บ Bookmark ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Traffic เข้ามายังเว็บคุณ รวมไปถึงเป็นที่ที่ Google ยังสามารถเข้ามาเก็บข้อมูลสำหรับจัดอันดับได้ด้วย ปัจจุบัน Bookmark ของไทยไม่มีเหลือแล้ว แต่ของต่างประเทศยังมีอยู่ ถ้าคอนเทนต์คุณเป็นแบบเพื่อนานาชาติแล้ว แนะนำ http://www.designfloat.com, http://www.digg.com, http://www.reddit.com, http://www.stumbleupon.com และ http://www.technorati.com แต่ทั้งนี้การใช้งาน Social Bookmark มักจะได้ลิงก์แบบ NoFollow ออกมาเยอะ ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อ SEO แน่นอน ฉะนั้นทางที่ดีควรกระจายไปลงในแอปโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Instagram, Twitter บ้าง
7. แลกลิงก์หรือฝากลิงก์ไว้ให้เว็บต่าง ๆ
คือการนำลิงก์เว็บไซต์ของเราไปฝากไว้กับคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันเราก็รับฝากลิงก์ของเขามาแปะที่เว็บของเราด้วยเช่นกัน และควรคำนึงด้วยว่าจุดประสงค์ของเว็บไซต์ที่คุณจะนำไปฝากลิงก์หรือแนวทางการเขียนคอนเทนต์เป็นไปในแนวเดียวกับคุณไหม ถ้าไม่ Google จะไม่นำไปจัดอันดับให้เพราะเห็นว่าเนื้อหาไม่สอดคล้องกัน และอย่าลืมเช็คค่า DA ของเว็บนั้น ๆ ด้วยก่อนติดต่อเพื่อฝากลิงก์ทุกครั้ง แนะนำเว็บไซต์จัดอันดับ Websiteseochecker, Moz หลังทำการตรวจสอบแล้ว ค่า DA ที่ได้ควรมากกว่า 15 คะแนนขึ้นไป
8. สร้างฐานคนอ่านผ่าน Blog
ถ้าเว็บไซต์คุณค่อนข้างใหม่ ลองใช้วิธี Guest Blogging คือเข้าไปเขียนในบล็อกต่าง ๆ หรือเอาคอนเทนต์เดิมไปโพสต์ลงบล็อกดู ยกตัวอย่าง แอปพลิเคชัน Blockdit หรือ Blogger.com แล้วแปะลิงก์เชื่อมกลับมาที่หน้าเว็บไซต์เรา หรือลองรับงานพาร์ตไทม์อาสาเขียนคอนเทนต์ให้เว็บไซต์ต่าง ๆ แล้วทิ้งท้าย CTA ด้วยว่า “หากอยากต้องการรู้จักผู้เขียนหรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม คลิกเข้าลิงก์นี้สิ” เป็นต้น
9. สร้าง Video Content
การเปิดช่องทางโซเชียลไว้หลาย ๆ ช่องทางย่อมเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งยุคนี้ที่หลายคนไม่ค่อยอยากอ่านบทความยาว ๆ มากแล้ว การทำ Video จึงเข้ามาตอบโจทย์มากกว่า ฉะนั้นถ้าคุณมีคลิปหรือ Podcast ให้ใส่ลิงก์กลับมาที่หน้าเว็บไซต์ของคุณเสมอ
10. ใช้เงินซื้อ Backlink โฆษณา
ติดต่อเว็บไซต์เจ้าใหญ่ที่ติดอันดับหน้าแรก Google ให้ช่วยแปะลิงก์หรือทำ Banner เชื่อมกลับมายังหน้าเว็บไซต์ของคุณ อีกวิธีหนึ่งคือซื้อคอนเทนต์มากจากเจ้าอื่นที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ที่เราจะทำหรือมีอยู่แล้ว แต่ต้องดูด้วยว่าหากยิงโฆษณาไปแล้ว กลุ่ม Lead ที่เข้าถึงตรงตาม Target Audience หรือ Persona ของเราหรือเปล่า หากไม่ตรงกลุ่มและเว็บไซต์ที่ลงโฆษณาให้เราเป็นเว็บที่ไม่ดี Google อาจแบนเราได้
Backlink นับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการทำ Organic SEO ให้มีคุณภาพได้ แต่หากทำแบบ “สุกเอาเผากิน” แล้วล่ะก็ รับรองเลยว่ามันจะส่งผลเสียมากกว่าจะได้ผลดี เพราะ Google ไม่ได้จัดอันดับคุณภาพที่ “ปริมาณ” หากแต่เป็น “คุณภาพ” ของมันต่างหาก เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ควรใส่ใจกับการทำ Backlink ให้มากขึ้นกันนะครับ
หากต้องการที่ปรึกษารับทำ SEO และบริการรับทำเว็บไซต์ WordPress เพื่อการตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ Engagement ที่ Cotatic Media เราเป็นหนึ่งใน Digital Marketing Agency ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย พร้อมให้คำแนะนำและขับเคลื่อนธุรกิจของคุณอยู่เสมอ
——————————————————————–
สนใจติดต่อ
โทร.065-095-9544
Inbox: https://m.me/cotactic