เคยมั้ยกับการทำธุรกิจแล้วพบว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้จักคุณ นี่ถือเป็นปัญหาที่พบเจอได้บ่อยทั้งธุรกิจที่เพิ่งเริ่มสร้างและธุรกิจก่อตั้งมานาน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้มีงบโฆษณามากมาย แล้วทำยังไงถึงจะสู้กับคู่แข่งเจ้าใหญ่ๆ แบบที่พูดชื่อแบรนด์ของคุณไปแล้วทุกคนรู้จักได้ล่ะ ? แน่นอนว่าเทคนิคหนึ่งคือการเลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีขนาดเล็กลงมาในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงให้ได้ก่อน ซึ่งนั่นก็คือการทำ Local SEO นั่นเอง เพราะหากชนะใจลูกค้าในพื้นที่ได้แล้ว การจะไปแข่งกับเจ้าใหญ่หรือในระดับที่สูงขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป !!
ยาวไปอยากเลือกอ่าน:
- Local SEO คืออะไร?
- Local SEO สำคัญอย่างไร?
- Local SEO จัดอันดับอย่างไร?
- เปิดบัญชี Google My Business จุดเริ่มต้นของการทำ Local SEO
- ประโยชน์ของ Local SEO
- การปรับปรุงประสิทธิภาพ Local SEO
- Schema markup คืออะไร?
Local SEO คืออะไร ?
Local SEO คือการทำ SEO ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าในพื้นที่หรือบริเวณใกล้เคียงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายสินค้าหรือบริการ พูดง่ายๆ ก็คือการทำให้ร้านค้าติดอันดับการค้นหาในหน้าแรกของ Google ผ่านคำค้นหาที่ระบุรายละเอียดสถานที่เพิ่มลงไป ซึ่งปกติจะมีโครงสร้างเป็น “ประเภทธุรกิจ + พื้นที่” เช่น เขต อำเภอ หรือจังหวัดให้เฉพาะเจาะจง
โดยไม่จำกัดว่าจะต้องมีความยาวขนาดไหน แต่ต้องให้อัลกอริทึม (Algorithm) ของ Google เข้าใจได้ว่าธุรกิจของเราอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้แสดงผลการค้นหาต่อลูกค้าที่ต้องการไปพื้นที่นั้นโดยเฉพาะ เช่น หากต้องการหาร้านกาแฟดื่มในเชียงใหม่ เราก็จะค้นหาด้วยคำว่า “ร้านกาแฟเชียงใหม่” หรือจะเป็น “ร้านกาแฟเชียงใหม่ อำเภอเมือง” จะเห็นว่าคำค้นหาที่ 2 มีการระบุเจาะจงมากขึ้นกว่าคำแรก ทำให้จำกัดการค้นหาเฉพาะร้านในอำเภอเมืองเท่านั้น หรือหากไปในที่ที่ไม่คุ้นเคยอาจจะใช้คำว่า “ร้านกาแฟใกล้ฉัน” หรือ “Cafe Near Me” ก็ได้ แน่นอนว่ายิ่งเราระบุสถานที่ตั้งได้ชัดเจนเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสติดอันดับแรกๆ ได้ง่ายกว่าเดิมและลูกค้าหาคุณเจอได้สะดวกมากขึ้น
Local SEO สำคัญอย่างไร ?
หากการที่จะไปทำ SEO แข่งกับธุรกิจเจ้าใหญ่มีชื่อเสียงหรือทั้งประเทศเป็นสิ่งที่ยากเกินไป จะง่ายกว่าไหมหากคุณเริ่มโปรโมทธุรกิจให้เป็นที่รู้จักในพื้นที่ใกล้เคียงที่คุณมีความได้เปรียบมากกว่าเสียก่อน การทำ Local SEO จะมาช่วยในเรื่องของการดึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง หรือก็คือการทำการตลาดเจาะกลุ่ม Niche Market เป็นหลัก เนื่องจากจะช่วยให้ธุรกิจมีกลุ่มลูกค้าชัดเจน หากคุณยังไม่เห็นภาพว่าดียังไง ลองดูข้อมูลด้านล่างประกอบ
รู้ไหมว่ามีการค้นหาข้อมูลของ Local Business ภายในเว็บไซต์ของ Google เป็นสัดส่วนถึง 46% และมีผู้ใช้งาน 88% ค้นหา Local Business จากโทรศัพท์มือถือเพื่อโทรสอบถามข้อมูล จากนั้นค่อยเดินทางไปที่ร้านภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังมีลูกค้าที่ค้นหาร้านขายสินค้าหรือบริการในรัศมี 8 กิโลเมตรจากที่อยู่สูงถึง 72%
จากข้อมูลเหล่านี้บอกได้ว่า หากคุณทำธุรกิจขนาดเล็กแต่ไม่ได้ทำการตลาด SEO แน่นอนว่าคุณจะพลาดโอกาสในการได้ลูกค้าจากการค้นหาสินค้าและบริการในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างน่าเสียดาย ซึ่งประโยชน์ของกลยุทธ์นี้ ที่นอกจากจะลดการแข่งขันกับธุรกิจเจ้าใหญ่แล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาในการทำ SEO ด้วย เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงเพื่อแข่งกับเจ้าใหญ่ในตลาด รวมทั้งลูกค้าที่ค้นหาจาก Google Map มีโอกาสจะมาที่ร้านหรือที่ตั้งธุรกิจมากกว่าลูกค้าประเภทอื่นๆ เนื่องจากมีความสะดวกสบายในการเดินทางนั่นเอง
แผนการตลาดแบบนี้ เหมาะกับธุรกิจใดๆ ก็ตามที่มีหน้าร้านหรือที่ตั้งชัดเจน อาทิ ร้านกาแฟ, ร้านอาหาร, ร้านตัดผม ไปจนถึงธุรกิจระดับกลางที่ต้องการเป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่าง SMEs เพียงแค่ระบุที่ตั้งของธุรกิจหรือขอบเขตของพื้นที่บริการให้ชัดเจน ก็จะทำให้เว็บไซต์ของคุณขึ้นอันดับได้ง่ายกว่า ปกติแล้วการทำ Local SEO จะต้องใช้เครื่องมือ Google My Business แต่บางคนอาจยังไม่รู้จักว่าเครื่องมือนี้มีไว้ทำอะไร วันนี้ทาง Cotactic จะมาแนะนำให้รู้จักกัน
Local SEO จัดอันดับอย่างไร ?
ในการจัดอันดับของเว็บไซต์นั้น จะมีอัลกอริทึมของ Google ตัวหนึ่งที่ชื่อ Pigeon เป็นตัวจัดลำดับการค้นหาที่ดีที่สุดตามตำแหน่งของผู้ใช้งาน ซึ่งจะมีความแตกต่างจากการทำ SEO แบบปกติหลัก ๆ ดังนี้
- ตำแหน่งของผู้ใช้งาน
- การระบุ NAP (Name, Address, Phone Number) ธุรกิจ
- การมีข้อมูลธุรกิจอยู่ใน Google My Business
- มีคีย์เวิร์ดที่ใช้อยู่ในโปรไฟล์ของ Google My Business
- มีรีวิวแสดงความคิดเห็นจากลูกค้ามีคีย์เวิร์ดที่ใช้อยู่ในรีวิวความคิดเห็นของลูกค้าปริมาณการเช็คอิน ณ สถานที่ตั้งธุรกิจ
- ปริมาณแชร์ในโซเชียลมีเดีย
- มีเรทติ้งของธุรกิจแสดงบน Google Map
จากเงื่อนไขทั้งหมด แน่นอนว่าต้องมีการสมัครใช้งาน Google My Business เสียก่อน เพื่อที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการค้นหาแบบ Local SEO และแสดงผลออกมาที่หน้าแรกของ Google ได้ เอาล่ะหากคุณพร้อมทำแล้ว เรามาเริ่มกันเลย!!
เปิดบัญชี Google My Business จุดเริ่มต้นของการทำ Local SEO
Google My Business คือ เครื่องมือของ Google สำหรับการปักหมุดเพื่อแสดงผลใน Google Map ทำให้ร้านของเรามีการแสดงผลในหน้าผลการค้นหา (SERP) ที่หลากหลายมากขึ้น จากสถิติการค้นหาจากผู้ใช้งาน การเติมคำว่า “ใกล้ฉัน”, “Near Me” หรือ “Close By” ต่อจากร้านค้าหรือธุรกิจที่พวกเขาสนใจ พบว่า 2 ปีที่ผ่านมามีอัตราการใช้คำค้นหาเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง 900% !
คุณสามารถเริ่มต้นการใช้งานด้วยการกรอกรายละเอียดข้อมูลของธุรกิจใน Google My Business ทำให้ลูกค้าเห็นชื่อ ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ รวมถึงลิงค์ไปยังหน้าเว็บไซต์ที่เรากำหนด หากนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ลองดูตามภาพที่ได้แสดงไว้ด้านล่าง เป็นหน้าแสดงผลการค้นหาของร้านอาหารที่จะโชว์แผนที่ขึ้นมาพร้อมกับข้อมูล รายชื่อร้านค้าแต่ละราย ซึ่งจะอยู่หน้าแรกด้านบนลิงค์สีฟ้าที่เป็นอันดับเว็บไซต์ก่อนทั้งหมด ทำให้ผู้ใช้งานเห็นและมีโอกาสคลิกก่อน นี้คือผลลัพธ์ของการใช้ Google My Business หรือที่เรียกว่า “Local Pack” หรือ “Local Biz Results” นั่นเอง ซึ่งตัว Google My Business นี้สามารถสมัครใช้งานได้ฟรีเพียงคุณมีบัญชีของ Google และนี้คือข้อมูลสำคัญ 6 อย่างในการเริ่มสร้างบัญชี Google My Business
1. Business Name
ชื่อธุรกิจ เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะชื่อธุรกิจก็ต้องเป็นคีย์เวิร์ดที่เราใช้ทำ SEO อยู่แล้ว เพื่อให้ลูกค้ารู้จักกิจการของเรา เช่น “โฮสเทล XXX ”, “ช่างประปา XXX”
2. Category
ประเภทของธุรกิจ ระบุชื่อประเภทของธุรกิจจะช่วยให้ Google สามารถค้นหาเราได้ง่ายขึ้นหากมีผู้ใช้งานค้นหาธุรกิจเดียวกับที่เราทำอยู่ เช่น หากเรามีร้านกาแฟชื่อ “XXX” เวลามีคนค้นหาร้านกาแฟในบริเวณที่ร้านเราตั้งอยู่ หน้าแสดงผลการค้นหาก็จะขึ้นร้าน XXX ออกมา หรือธุรกิจบริการอย่างงานช่าง ก็ต้องระบุให้ชัดเจนเป็น “ร้านตัดผม XXX”, “สำนักงานทนายความ XXX” เป็นต้น
3. Service Area
ระบุที่ตั้งร้านของเราให้ชัดเจน ใส่ที่อยู่รายละเอียดให้ครบ หากเป็นธุรกิจบริการก็ต้องกำหนดขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจนว่าครอบคลุมช่วงไหน และห้ามลืมปักหมุดร้านลงบนแผนที่เด็ดขาด ! เพราะลูกค้าจะได้ดูง่ายและสามารถเลือกใช้ Google Map นำทางได้เลย เช่น กำหนดพื้นที่ให้บริการของ “โฮสเทล XXX” อยู่ในถนนนิมมานเหมินทร์ จ. เชียงใหม่ หรือศูนย์รถยนต์ ”โตโยต้า XXX” ให้บริการในพื้นที่เขตจตุจักร
4. Office Hour
ใส่ระยะเวลาทำการของธุรกิจ ว่าเปิด-ปิดกี่โมง วันทำการวันไหนบ้าง เพื่อผู้ใช้งานจะได้ทราบว่า ณ เวลาที่เขาได้ค้นหาอยู่นั้นธุรกิจเปิดปกติหรือไม่ ซึ่งจะไปแสดงผลในหน้าของ Local Pack ลูกค้าจึงไม่จำเป็นต้องกดเข้าไปดูในเว็บไซต์ ก็สามารถทราบได้ทันที
5. Product
ต้องระบุให้ชัดว่าธุรกิจของคุณขายสินค้าหรือบริการอะไร ซึ่งในส่วนนี้คุณจำเป็นที่จะต้องใส่ Keyword สำหรับการทำ SEO ไว้ในส่วนนี้ด้วย เพื่อให้ Google ค้นหาเจอได้ง่ายจากชนิดของสินค้าที่ขาย เช่น ร้านอาหาร ที่มีเฉพาะอาหารเหนือ หรือร้านกาแฟ ที่ขายแต่กาแฟท้องถิ่นและขนมปัง ร้านตัดผม ที่ตัดเฉพาะทรงวินเทจ เป็นต้น
6. Image
สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือรูปร้านค้าของเรา รวมถึงรูปสินค้าและบริการทั้งหมด ยิ่งมีเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ควรเลือกใช้รูปที่สวยงามเพื่อดึงดูดลูกค้า หากถ่ายเองไม่ได้ก็ควรจ้างช่างภาพมืออาชีพ
ข้อมูล 6 ประเภทที่ต้องกรอกทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใส่ให้ครบถ้วน รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์ที่ลูกค้าสามารถติดต่อได้กับอีเมล์และลิงค์หน้าเว็บไซต์เราที่ต้องการให้ลูกค้าคลิกเข้าไปชมหรือรวมถึง Landing Page ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใช้งานยังสามารถกดดูรีวิวธุรกิจได้ว่าเป็นอย่างไรเพื่อประกอบการตัดสินใจ เนื่องจากยิ่งมีข้อมูลละเอียดและครบถ้วนเท่าไหร่ อัลกอริทึมของ Google ก็จะมองว่าน่าเชื่อถือและจัดอันดับไว้สูงกว่าธุรกิจที่รายละเอียดไม่ครบและไม่มีคะแนนรีวิวจากลูกค้า
ในบางครั้งลูกค้าอาจจะไม่ประทับใจในสินค้าหรือบริการที่ได้รับ โดยการถ่ายทอดผ่านช่องทางแสดงความคิดเห็น ก็ไม่ควรเพิกเฉย ร้านควรตอบกลับอย่างมืออาชีพพร้อมแก้ปัญหา เพราะหากไปลบความคิดเห็นเหล่านี้ออก ก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการจัดอันดับของ Google เช่นเดียวกัน
แต่ปัจจุบันตัวอัลกอริทึมของ Google ก็ถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้นโดยการเลือกอันดับเว็บไซต์ของร้านขายสินค้าหรือบริการที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงผู้ใช้งานขึ้นมาก่อนร้านที่อยู่ไกลออกไป โดยเฉพาะการแสดงผลในโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากจะประมวลผลจากตำแหน่ง Location ของมือถือที่เปิดไว้ด้วย อย่างไรก็ตามควรระบุคีย์เวิร์ดของสถานที่ในการทำ SEO อยู่ดี เนื่องจากจะช่วยให้ Google เองเข้าใจได้รวดเร็วกว่า
ประโยชน์ของ Local SEO
1. ติดอันดับง่าย: การทำ Local SEO ช่วยให้เว็บไซต์แสดงผลให้กับลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ลูกค้าเจอธุรกิจของเราเป็นอันดับแรกๆ จึงสามารถเอาชนะคู่แข่งได้
2. แสดงผลในหน้าแรกแบบแผนที่: ช่วยให้ร้านค้าหรือธุรกิจแสดงในหน้าผลการค้นหาแบบ Google Map หรือ เป็นแบบ Local Pack ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ค้นหาจะเจอธุรกิจของคุณก่อนคู่แข่งที่ไม่ได้ทำ
3. เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทำ SEO แบบกว้าง: ด้วยการใช้คำค้นหาหรือคีย์เวิร์ดแบบ Long Tail Keyword ที่มีการแข่งขันต่ำกว่า เพราะปริมาณการค้นหา (Search Volume) น้อย ทำให้ติดอันดับแรกๆ ได้ง่าย เพิ่มโอกาสในการแข่งขันของ SEO
4. กำหนด Personalized Content ตรงกลุ่มลูกค้า: การตลาดแบบนี้จะทำให้ได้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็น Niche Market ดังนั้นเมื่อมีข้อมูลของลูกค้ากลุ่มนี้แล้ว คุณสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ต่อยอดในการทำคอนเทนต์แบบเฉพาะเจาะจง หรือ Personalized Content ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงได้
5. ลูกค้าสามารถให้คะแนนรีวิว: ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการตัดสินใจเลือกใช้จากลูกค้ารายอื่นๆ จากข้อความแสดงความคิดเห็นและการให้ Rating หรือให้ดาว (สูงสุด 5 ดาว) เพราะหากร้านได้ Rating สูง ย่อมได้รับความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสได้ลูกค้ามากขึ้นในอนาคต และกลับกันหากร้านไหนที่ได้ Rating ต่ำ ลูกค้าก็จะมีโอกาสใช้บริการน้อยกว่า
การปรับปรุงประสิทธิภาพ Local SEO
สำหรับธุรกิจที่ทำ SEO อยู่แล้วนั้น ใช้พื้นฐานเดียวกันในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ เราเพียงแค่ต้องปรับแต่งหรือเพิ่มเติมบางส่วนให้สอดคล้องกับ วิธีการที่เราทำ ดังนี้
1. การปรับปรุงสำหรับ Google My Business
- ใส่ข้อมูล NAP+W (Name, Address, Phone Number + Website): ใส่ข้อมูลของธุรกิจให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อกิจการ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เว็บไซต์ รวมถึงอีเมล์ เพื่อบ่งบอกถึงการมีตัวตนอยู่จริง ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ
- ใส่ Description ของธุรกิจ: กรอกรายละเอียดความเป็นมาสั้นๆ ของธุรกิจเรา และอย่าลืมใส่ Keyword สำหรับ SEO เข้าไปด้วยอัพเดทข้อมูลอยู่เสมอ: หมั่นโพสต์อัพเดทธุรกิจใน Google My Business อย่างสม่ำเสมอ เพื่อ Google จะได้มองว่าไม่ใช่เว็บไซต์ร้าง
- ให้ลูกค้ารีวิว: ขอความร่วมมือลูกค้าเช็คอินที่ร้านในโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Instagram รวมทั้งให้รีวิวสินค้าหรือบริการของร้าน (หากเป็นไปได้ในข้อความแสดงความคิดเห็นควรหาทางให้ลูกค้าใส่คีย์เวิร์ดไว้ด้วย อย่างการมีรูปแบบบางประโยคกำหนดไว้สั้นๆ ให้อยู่ในข้อความรีวิว เช่น ให้ขึ้นต้นด้วยคำว่า “รีวิวร้านขนมXXX”…ตามด้วยส่วนความคิดเห็นจากลูกค้าเอง) โดยการแจกรางวัลที่ดึงดูดใจเพื่อกระตุ้นลูกค้าให้อยากนำเสนอประสบการณ์ที่ได้รับ
- มีรูปภาพ: ต้องมีรูปสินค้าหรือบริการที่ดูสวยงามและคมชัด เป็นปัจจุบัน ประมาณ 8-10 รูปกำลังพอดี
2. การปรับปรุงสำหรับเว็บไซต์
- ต้อง Mobile Friendly: จากข้อมูลที่เรารู้ว่ากลุ่มลูกค้าที่ค้นหา Local Business มาจากผู้ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมากที่สุด ดังนั้นจึงต้องเน้นการออกแบบเว็บไซต์ให้แสดงผลได้ดีบนมือถือเป็นพิเศษ เนื่องจากความรวดเร็วและความสะดวกสบายของผู้ใช้งาน
- ใช้ Long-Tail Keyword: ปรับปรุงคำค้นหาหรือคีย์เวิร์ดด้วยการปรับคีย์เวิร์ดในคอนเทนต์ของเว็บให้เป็น Long-Tail Keyword เพิ่มขึ้นมา เช่น จากคำเดิมที่เป็น “ร้านกาแฟ” เปลี่ยนเป็น “ร้านกาแฟเชียงใหม่ อำเภอเมือง” หรือจาก “ช่างทำกุญแจ” เป็น “ช่างทำกุญแจ ติวานนท์ นนทบุรี” เป็นต้น
- สร้าง Personalized Content: ทำคอนเท้นต์เจาะกลุ่มลูกค้าที่มาจากการทำ Local SEO หรือหากธุรกิจมีหลายสาขาก็ควรแยกทำคอนเท้นต์ของแต่ละสาขาให้ตรงกับประเภทของลูกค้าในแต่ละพื้นที่นั้นๆ อย่างชัดเจน เช่น ร้านทำสีรถสาขาภูเก็ต อาจจะทำคอนเท้นต์ชื่อ “ข้อควรระวังในการดูแลรถที่ต้องสัมผัสลมทะเลเป็นประจำ” ส่วนร้านในสาขาเชียงใหม่ อาจจะทำคอนเท้นต์ “เทคนิคการขับรถขึ้นเขาอย่างถูกวิธี” เป็นต้น
- ปรับปรุง On Page: ปรับ Title, Image, URL, Meta Description และส่วน Content ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคีย์เวิร์ดที่เรากำหนดขึ้นมา ซึ่งส่วนของคอนเทนต์นั้น หากธุรกิจของเรามีมากกว่า 1 สาขา ก็ควรทำคอนเทนต์ที่มี Local Keyword ของแต่ละสาขาแยกไว้จากคอนเทนต์รวมของหน้าหลักอีกทีหนึ่ง
- ใส่ข้อมูลละเอียดครบถ้วน: ตรวจสอบข้อมูลของร้านค้ารวมถึงเวลาทำการให้ถูกต้อง และควรใส่อย่างละเอียดในระดับที่ลูกค้าอ่านแล้วไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์ถามก็เข้าใจได้เลย
- ใส่ Schema Markup: เพิ่ม Schema Markup ไว้ในหน้า Landing Page อย่างเหมาะสม
- แยก Landing Page: แยกของแต่ละสาขาออกจากกัน (หากมีมากกว่า 1 ร้าน) รวมถึงคีย์เวิร์ดที่ทำไว้เฉพาะของแต่ละสาขา ให้สอดคล้องกับคอนเท้นต์ในสาขานั้นๆ
- มีการอ้างอิงลิงค์ของเว็บไซต์เราจากเว็บไซต์อื่น: ยิ่งเว็บไซต์หรือเนื้อหาที่อ้างอิงเว็บไซต์เรามีความน่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ เว็บไซต์เราก็จะได้คะแนนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นด้วย
**Note: หากคุณไม่ต้องการสร้างหลายเว็บไซต์เพื่อรองรับ Local SEO ในแต่ละสาขา ควรเน้นการทำ Google My Business ให้มีประสิทธิภาพ และปักหมุดในทุกสาขาก็เพียงพอแล้ว
3. การสร้าง Local Link และการโปรโมทร้านให้เป็นที่รู้จัก
- หาโอกาสใช้ร้านเป็นพื้นที่จัดงานกิจกรรมต่างๆ ในท้องถิ่น
เพื่อทำให้คนในพื้นที่หรือคนที่เดินทางมางานกิจกรรมนั้นๆ ได้รู้จักร้านของคุณ ว่าขายสินค้าหรือบริการอะไร ทำให้เกิดการจดจำ (Brand Awareness)
- หาทางเป็น Partner กับสื่อวิทยุหรือสิ่งพิมพ์ท้องถิ่น
เพื่อโอกาสในการโปรโมทร้านจากสื่อเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม อย่างเช่นการให้มาใช้พื้นที่ของร้านในการทำงาน การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ หรือการมอบสินค้าและบริการให้แก่สื่อเหล่านี้เป็นพิเศษ
- เข้าร่วมงานบริจาคหรืองานการกุศลตามโอกาส
นอกจากเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมแล้วยังช่วยให้ผู้คนมีโอกาสรู้จักธุรกิจคุณเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มลูกค้าเป้าหมายในอนาคต
- รวมกลุ่มระหว่างธุรกิจประเภทเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันในท้องถิ่น
จะดีกว่าไหมหากมีเพื่อนหรือพันธมิตรกันทางธุรกิจ เพราะเวลามีข่าวสารต่างๆ จะได้คอยแจ้งให้ทราบแก่กัน เผื่อบางคนมีหลายธุรกิจ อาจจะไม่ค่อยมีเวลาติดตามข้อมูลหรือเหตุการณ์ในพื้นที่ร้านใดร้านหนึ่งมากนัก จึงย่อมดีกว่าอยู่ตัวคนเดียว รวมถึงการช่วยเหลือกันและเปิดโอกาสทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้น
- ให้ส่วนลดพิเศษสำหรับห้างร้านหรือบริษัทในพื้นที่นั้นๆ
เพื่อเป็นการเชิญชวนพนักงานขององค์กรที่ให้สิทธิพิเศษ มาซื้อสินค้าหรือบริการที่ร้าน ทั้งยังเป็นการให้ลูกค้าช่วยโปรโมทต่อไปหากเขารู้สึกประทับใจกับประสบการณ์ที่ได้รับ
- ใช้โปรแกรม Local SEO อื่นๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลลัพธ์การค้นหา
การใช้ Third Party อย่างโปรแกรมอื่นๆมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลการค้นหา แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น BrightLocal, MozLocal, Whitespark, Advice Local และ Yext ซึ่งคิดอัตราค่าบริการเป็นรายเดือนหรือรายปี ซึ่งขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่เลือกใช้
Schema Markup คืออะไร ?
อธิบายได้ง่ายๆ ว่าคือโค้ดหรือชุดคำสั่งชุดเล็กๆ ที่แทรกไว้ใน HTML ซึ่งช่วยให้ Google เข้าใจมากขึ้นว่าข้อมูลในหน้านั้นเป็นประเภทไหนหรือเกี่ยวกับอะไร โดย Schema Markup นี้เป็นส่วนหนึ่งของ Structured Data ซึ่งตัว Structured Data นี้เป็นโครงสร้างข้อมูลภายในของ Google ที่มีความสำคัญต่อการแสดงผลการค้นหาที่ดีกว่าเดิม จะเป็นรูปแบบชุดข้อมูลที่ถูกระบุไว้กับเว็บไซต์แต่ละหน้า เพื่ออธิบายข้อมูลให้กับระบบของ Google ให้เข้าใจเนื้อหาและความเกี่ยวข้องกันบนเว็บไซต์ให้มากที่สุด
ซึ่งหลักการใช้ Schema Markup นี้จะใส่ลงไปเพื่อกำหนดประเภทของสิ่งที่เราต้องการผ่านการใช้ Tag ที่มาจาก Schema.org เช่น Events (งานกิจกรรม), Restaurant (ร้านอาหาร), Product (สินค้า) ซึ่งการกำหนดหมวดหมู่ จะทำให้ Google ค้นหาข้อมูลได้ไหลลื่น มีอิทธิพลในการดึงตำแหน่งผลการค้นหาให้สูงขึ้น โดยหน้าแสดงผลลัพธ์การค้นหาแบบนี้จะเรียกว่า Rich Snippets ซึ่งมีแบ่งย่อยออกไปอีกหลายประเภท ตามความต้องการของผู้ออกแบบเว็บไซต์ว่าจะให้แสดงผลแบบใดบ้าง แต่ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึง ประโยชน์ของการใช้มีดังนี้
1) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเว็บไซต์มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังกระจายการเข้าถึงไปสู่หน้าเว็บอื่นๆ เพราะโครงสร้างของข้อมูลที่ใช้ Schema markup จะอธิบายให้ Google เข้าถึงตัวเว็บไซต์หลักกับหน้าเว็บไซต์เสริมได้แม่นยำเพิ่มขึ้น ทำให้อันดับการแสดงผลดีขึ้น อัตราการเข้าเว็บจึงเพิ่มตาม
2) พิ่มความโดดเด่นให้เว็บไซต์ เนื่องจาก Schema Markup จะทำให้หน้าแสดงผลการค้นหาของเว็บไซต์ ติดอันดับดีๆ ได้ง่าย เพราะความละเอียดของเนื้อหามีมากขึ้น ซึ่งหากเทียบกับเว็บไซต์ที่ไม่มี Schema Markup แล้ว อันดับของเว็บที่มีจะชนะขาด !
3) เพิ่ม Organic Traffic เพราะเมื่อเว็บไซต์เราได้อันดับแรกๆ จากการทำ Schema Markup ย่อมทำให้ได้อัตราการคลิกเข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย ทำให้ไม่ต้องเสียเงินทำ Ads อย่างไม่จำเป็น
แน่นอนว่ายิ่งเราใส่ Schema Markup ได้ละเอียดเท่าไหร่ Google ก็จะยิ่งเก็บข้อมูลได้ตรงตามที่เราต้องการแสดงเพิ่มขึ้นเท่านั้น ซึ่งช่วยเพิ่มคะแนนด้าน Onpage SEO ของเว็บไซต์ด้วย สำหรับในส่วนนี้เราอาจจะต้องให้ฝ่ายเทคนิคเป็นคนดูแลจัดการแทนหากไม่ได้มีความเข้าใจใน HTML
หากใครอ่านมาถึงตรงนี้คงเห็นแล้วว่าการทำ Local SEO มีความสำคัญอย่างไร แถมการเริ่มทำยังไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งใครๆ ก็สามารถทำเองได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อจะมีที่ยืนสำหรับการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งได้กลุ่มลูกค้าที่แท้จริงของธุรกิจ หรือจะจ้างบริษัทรับทำ SEO เป็นผู้ดูแลก็ได้ ซึ่ง Cotactic Digital Marketing Agency บริษัทที่เชี่ยวชาญตั้งแต่การรับทำเว็บไซต์ WordPress จนถึงการตลาดออนไลน์หลากหลายรูปแบบ และยังสามารถช่วยให้กิจการเลือกทำการตลาดได้ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่ม อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงคุณภาพของสินค้าและบริการ ในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แแก่ลูกค้าอยู่เสมอ เพราะหากพวกเขาประทับใจและมองเห็นคุณค่าแล้ว สักวันพวกเขาก็จะกลับมาอุดหนุนในโอกาสต่อไป ถูกมั้ยล่ะครับ