ความเครียดในที่ทำงานถือเป็นปัญหาระดับอ่อน ๆ ในการทำงาน ความเครียดอาจหมายถึงความละเอียดอ่อน และใส่ใจในการทำงาน แต่ทว่าหากความเครียดที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นปัญหารุมเร้า ต้องใช้ยาช่วยให้ผ่อนคลายหรือทานยานอนหลับเพื่อหลีกหนีปัญหาในแต่ละคืน สุดท้ายทุกอย่างจะลงเอยด้วยการลาออก ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจคงเสียดายแย่ ถ้าต้องสูญเสียพนักงานคนสำคัญขององค์กรไป
ตอนนี้เราได้มีเทรนด์ใหม่ที่ถือกำเนิดมาเมื่อไม่นานนี้ครับ เมื่อการไปเที่ยวกับการพักผ่อนและการทำงานถูกผสมเข้าด้วยกันกลายเป็นวัตถุดิบที่เรียกว่า “Workation” ที่กำลังมาแรง และบอกได้เลยว่าเจ้าของธุรกิจโรงแรมหรือบริการอื่น ๆ สามารถหาลูกค้าใหม่เพิ่มได้จากเทรนด์นี้ครับ
Workation คือ?
คำศัพท์ใหม่คำนี้เกิดจากคำสองคำรวมกันคือ Work และ Vacation หรือทำงานไป เที่ยวไป กำเนิดขึ้นครั้งแรกช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สำนักงานหลายแห่งเปลี่ยนมาทำงานจากที่บ้านแทน ทำให้เส้นบาง ๆ ที่ขวางกั้นระหว่าง “งาน” กับ “ชีวิตส่วนตัว” เริ่มหดน้อยลงทุกที ๆ จนหายไปเลยก็มี เมื่อบ้านไม่ใช่ Comfort Zone อีกต่อไป แต่กลับกลายเป็น Stress Zone มากกว่าเดิม กระตุ้นให้ระดับความอยากทำงานลดลง เพิ่มความตึงเครียดกับชีวิตมากขึ้น เมื่อเป็นแบบนี้แล้วสำหรับพนักงานออฟฟิศที่รู้สึกอึดอัดที่บ้านกลายเป็นที่ทำงาน ก็ต้องหาช่วงเวลาของชีวิตแห่งใหม่ ที่การทำงานจะไม่จำเจเหมือนอย่างเคย
จึงเกิดเป็นกระแสให้คนหนุ่มสาวตัดสินใจหยิบกระเป๋าเดินทาง ปัดฝุ่นหมวกกันสักเล็กน้อยแล้วออกไปลิงโลดในโลกกว้าง ที่คุณสามารถประชุมงานกับผู้บริหารได้ในขณะที่คุณนั่งอยู่ตรงริมระเบียงโรงแรมบนชายหาดทะเลอันดามัน หรือเขียนคอนเทนต์สักหนึ่งเรื่องในตอนที่กำลังจิบกาแฟห้อยขาอยู่บนภูชี้ฟ้า นี่คือคอนเซปต์ของ Workation ครับ ปี 2022 แทบทุกที่มีอินเทอร์เน็ตหรือไวฟายให้เราเข้าถึงได้ ดังนั้นคงไม่มีความผิดอะไรหากตัวคุณจะพักผ่อนเล็กน้อย แต่ก็ยังรับผิดชอบกับงานของตัวเองอยู่ และที่สำคัญหากคุณมีนัดที่ต้องพบปะหาลูกค้าใหม่ในต่างสถานที่ก็ถือโอกาสนี้เที่ยวไปด้วยในตัวเสียเลย
ความแตกต่างของ Remote Work กับ Workation
ทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกันแต่ต่างกันตรงที่รูปแบบของการทำงานที่ต่างกัน
Remote Work:
จะคลับคล้ายว่าจะเป็นการทำงานทางไกลแบบถาวรและเต็มเวลางาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็คือการทำงานจากที่บ้านเป็นหลัก และอยู่ยาวต่อไปเรื่อย ๆ ในขณะที่
Workation:
จะมีข้อผูกมัดน้อยกว่าตรงที่ไม่ได้มีเวลาเข้างานตรงตัว เป็นการทำงานที่ออกเดินทางไปเที่ยวด้วยเป็นทริปสั้น ๆ ค่อนไปทางค้นหาไลฟ์สไตล์ใหม่สำหรับชีวิตตัวเองเสียมากกว่า
ประเภทของ Workation
อันที่จริงการไปเที่ยวพักผ่อนลักษณะนี้ไม่มีรูปแบบตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับความชอบในการพักผ่อนของแต่ละคน แต่ก็ยังสามารถจัดกลุ่มของการไปเที่ยวปนทำงานนี้ได้ออกเป็น 3 กลุ่มหลักเลยด้วยกัน
-
Workation ระยะสั้น
กลุ่มระยะนี้จะใช้เวลาลาไม่กี่วัน สามารถลาไปพักผ่อนได้ในช่วงวันหยุดประจำวันหรือลารวดเดียว 2 – 3 วันกลางสัปดาห์ก็ได้ และโดยปกติหากเป็นการทำงานแบบพักผ่อนระยะสั้นเช่นนี้มักจะออกไปเที่ยวที่ไหนไม่ไกลอีกด้วย อาจจะซักผ้า อบผ้าแล้วขึ้นเครื่องหรือนั่งรถไฟออกไปเที่ยวเลย ยกตัวอย่าง ไปเที่ยวในช่วงวันอังคาร – พุธ คืนวันจันทร์อาจจะซักผ้า อบผ้า ทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อย เช้าวันอังคารขึ้นรถไฟไปหัวหิน ระหว่างที่อยู่บนรถไฟก็พิมพ์งานไปด้วย ตอบเมลลูกค้าสักหน่อย พอไปถึงก็เป็นช่วงบ่ายเล่นน้ำทะเล วันต่อมาก็ประชุมงานกับหัวหน้าแล้วค่อยเดินทางกลับ
-
Workation ระยะกลาง
ขยับจากลาแค่ไม่กี่วันเป็นลาเพิ่มขึ้นต่ออาทิตย์ หลายอาทิตย์ หรืออาจเป็นเดือน ในกรณีนี้คุณต้องมั่นใจด้วยว่าคุณไม่มีภาระอะไรให้ต้องทิ้งบ้านของคุณไปเที่ยวเป็นเวลานาน และควรจัดการธุระสำคัญให้เรียบร้อยและวางแผนการลากับไปเที่ยวมาอย่างดี การไปเที่ยวเชิงพักผ่อนแบบนี้อาจนั่งเครื่องบินไปอีกภาคของประเทศหรือบินไปเที่ยวต่างประเทศ ชาวต่างชาติหลายคนก็ค่อนข้างชื่นชอบการเที่ยวระยะกลางแบบนี้มาก เพราะจากการจัดลำดับ “เมืองที่ดีที่สุดสำหรับ การทำงานและการพักผ่อน” ของเว็บไซต์ Holidu ได้จัดลำดับไว้ว่า กรุงเทพติดอันดับ 1 เมืองที่ดีที่สุดในโลกสำหรับทำงานและพักผ่อนเพราะความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ค่อนข้างดี Co-Working Spaces เยอะ ราคากาแฟที่ไม่แพงจนเกินไป ค่าแท็กซี่ถูก ราคาเฉลี่ยค่าเบียร์ 2 แก้วในร้านบาร์อยู่ในระดับกลาง ๆ (สำหรับคนไทยที่มาอ่านอาจจะรู้สึกแปลก ๆ เล็กน้อย แต่ผลการสำรวจนี้มาจากต่างประเทศที่เปรียบเทียบเป็นค่าเงินยูโรและค่าครองชีพโดยรวมจากต่างประเทศเท่านั้น)
-
Workation ระยะยาว
การลาระยะนี้เป็นที่พูดถึงกันมากที่สุดในกลุ่ม Workation ทั้งหมด รูปแบบนี้เป็นการลาระยะยาวที่ตัวบุคคลจะต้องย้ายสถานที่ไปทำงานในที่อื่นเป็นการชั่วคราว การทำงานกึ่งเที่ยวระยะยาวจะต้องใช้ทั้งวีซ่าและใบอนุญาตต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางหรือสถานที่ที่เราจะไป แต่โชคยังดีที่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดรับอนุญาตให้ออกวีซ่าสำหรับการทำงานในที่ห่างไกล (Remote-Work)
Workation ในระยะนี้จะใช้เวลาตั้งแต่หลายเดือนไปจนถึง 2 – 3 ปีโดยประมาณ
ปัจจัยในการเลือกสถานที่ Workation
ปัจจัยในการเลือกสถานที่ Workation สามารถเป็นไปได้หลายกรณีเช่นกันใกล้บ้าน เดินทางสะดวก บรรยากาศดี แต่โดยรวมแล้วมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานทางไกลอยู่ด้วยกัน 3 กรณี คือ
-
ความสงบ ความเงียบ
การทำงานในต่างถิ่นปัจจัยนี้เป็นส่วนสำคัญสำหรับคนที่ต้องทำงานที่ใช้สมาธิมากหน่อย ข้อนี้จึงสำคัญมากหรือถ้าจู่ ๆ ดันมีการประชุมทางไกลกันขึ้นมา สถานที่ที่เงียบสงบจะช่วยให้การประชุมราบรื่นไปได้ด้วยดีครับ
-
ค่าครองชีพต่ำ
ปัจจัยนี้อาจเหมาะสำหรับ Workation ระยะกลางและระยะยาวที่วางแผนเดินทางไปต่างประเทศ เพราะแม้จะพักผ่อนก็ต้องกินต้องใช้ ถ้าค่าครองชีพสูงเกินจะจ่ายไหวแทนที่จะได้ทำงานแบบสบาย ๆ อาจต้องมานั่งเครียดกับรายได้ที่สวนทางกับรายจ่ายแทน
-
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ดี
การทำงานออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในตอนนี้แล้ว แม้แต่ตัวงานก็ต้องอัปโหลดขึ้นไปเป็นแบบออนไลน์กันทั้งนั้น สามารถเรียกดูงานได้จากทุกพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ช่วยประหยัดเวลาไปได้เยอะมาก
นอกจากปัจจัยหลักทั้งสามอย่างแล้วเรายังมีปัจจัยข้ออื่น ๆ ที่ช่วยในการประกอบการตัดสินใจให้ผู้ประกอบการโรงแรมและบริการได้ปรับตัวตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น
- จำนวนเงินโดยรวมที่ต้องใช้ต่อการไป Workation 1 ครั้ง รวมภาษี
- จุดหมายสามารถเข้าถึงได้ง่ายแค่ไหน
- ภาระผูกพันอื่นที่ต้องดูแลก่อนออกไป Workation (เช่น มีลูกหรือผู้ใหญ่ที่ต้องดูแล)
- เอกสารการขออนุญาตเดินทาง วีซ่า พาสปอร์ต และอื่น ๆ ที่ต้องใช้ก่อนเตรียมออกเดินทาง
- ปัญหา Time Zone กับเพื่อนร่วมงานเมื่อต้องไปพักผ่อนที่ต่างทวีป
หากธุรกิจไหนมีปัจจัยขั้นพื้นฐานทั้ง 3 อย่างนี้ข้างต้นครบถ้วน รับรองได้เลยว่ามีโอกาสสูงเลยทีเดียวที่จะหาลูกค้าใหม่จากเทรนด์นี้ได้โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแน่นอน
ข้อดีของการ Workation
การวิจัยและผลทดสอบหลายครั้งหลายคราก็ได้ทดสอบมาแล้วว่าการนั่งทำงาน 8 ชั่วโมง++ ต่อวันไม่ได้ส่งผลดีอะไรเลย ทั้งร่างกายและจิตใจที่รังแต่จะห่อเหี่ยวไปเรื่อย ๆ ทำให้ประโยคที่ว่า “นี่คือจุดประสงค์ของการใช้เวลาทั้งวันอยู่แต่ในออฟฟิศหรือเปล่า?” เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นการออกไปทำกิจกรรมข้างนอกจะช่วยให้เราผ่อนคลายมากขึ้น และยังช่วยธุรกิจบริการและโรงแรมให้มีลูกค้าเข้ามาพักเพิ่มขึ้น แถมงานก็ไม่เสียอีก Win-Win กันทั้ง 3 ฝ่าย ซึ่งมีข้อดีดังนี้
- เพิ่มแรงกระตุ้นในการทำงาน
- เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
- เพิ่มความโปรดักทีฟ
- เพิ่มความคิดสร้างสรรค์
- เพิ่มแรงบันดาลใจ
- เพิ่มอัตราการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้ยาวนานขึ้น
- สร้างความพึงพอใจให้กับงานที่ทำอยู่
- เพิ่มสวัสดิการและความสุขโดยรวม
ธุรกิจโรงแรมและบริการในไทยอาจต้องเตรียมรับมือ
อย่างที่ผมได้กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว ทางต่างประเทศได้จัดอันดับให้กรุงเทพเป็นเมืองที่เหมาะที่สุดสำหรับการทำงานและการพักผ่อนตามมาด้วยภูเก็ต และเชียงใหม่ ในลำดับที่ 10 และ 11
ซึ่งจากการคาดการณ์ในอนาคตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เว็บไซต์ Booking.com ได้ประมาณการไว้ว่า ช่วงเวลาที่ทำ Workation อาจจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 2 – 3 วันอีกต่อไป แต่อาจจะขยายไปไกลกว่านั้นนานหลายอาทิตย์หรือหลายเดือน และยิ่งไปกว่านั้นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวต่างถิ่นจะไม่ได้มองหาแค่ที่พักหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถขับรถออกมาได้สะดวกเพียงอย่างเดียว แต่จะพยายามมองหาสถานที่หรือกิจกรรมที่ไม่เหมือนใครมากขึ้นอีกด้วย ดั่งที่เราจะเห็นบ่อย ๆ อย่างเช่นการออกไปรีวิวร้านลับในต่างจังหวัด หรือที่พักวิวสวย กิจกรรมเด่นในราคาแตะถึง เป็นต้น
ทั้งนี้แม้ว่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเป็นที่ต้องการมากที่สุดสำหรับการทำงานนอกสถานที่ ทางเว็บไซต์ก็ยังบอกด้วยว่า นักท่องเที่ยวยังมองหาแพ็กเกจที่มีกิจกรรมสำหรับการพักผ่อนอื่น ๆ บรรจุเข้าไปด้วย เช่น การเดิน Trail ระยะทางสั้น ๆ รอบ ๆ ที่พักในช่วงพักเบรกจากงาน เสิร์ฟอาหารพื้นเมืองที่ช่วยให้แขกกระตุ้นความสนใจในอาหารพื้นเมือง หรือแม้แต่กิจกรรมผ่อนคลายจำพวกโยคะ การทำสมาธิ ก็ได้ผลดีเกินคาด รวมถึงออกแบบคอร์สพิเศษเพื่อผู้พักอาศัยโดยเฉพาะ อาทิ การนวด การทำสปาแบบพิเศษที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและฟื้นฟูความสดชื่นได้ดี โดยที่ไม่เสียตารางงานของผู้เข้าพัก
นอกจากนี้การสำรวจยังบอกด้วยว่าที่พักแบบหมู่บ้านโฮมสเตย์ โรงแรมบูติก ที่พักที่ใกล้ศูนย์พักพิงสัตว์ป่า และศูนย์สุขภาพจะได้เปรียบกว่าสถานที่พักอื่น ๆ เนื่องจากสถานที่ตั้งและสภาพการเป็นอยู่รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะสอดคล้องกับปัจจัยที่นักท่องเที่ยวอยากมา Workation มากที่สุด มีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอ รับผู้เข้าพักจำนวนจำกัดทำให้บริเวณที่พักเงียบสงบมากขึ้น
และในฐานะของเจ้าของธุรกิจโรงแรม / บริการคุณต้องคำนึงถึงจุดเด่นที่คุณมีและหาวิธีสื่อสารกับผู้เข้าพักได้อย่างตรงจุด ประเมินว่าสภาพแวดล้อมธรรมชาติและทางสังคมในพื้นที่ของคุณรองรับการมาเยือนของแขกได้หรือไม่ และสภาพแวดล้อมเหล่านั้นสามารถเอื้อเฟื้อ สร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้นักเดินทางมากน้อยแค่ไหน ซึ่งแนวทางเหล่านี้หากผู้ประกอบการสามารถตอบโจทย์ได้ครบทุกข้อการหาลูกค้าจาก Workation ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้วล่ะครับ
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีแนวโน้มอีกด้วยว่าเทรนด์การไปเที่ยวพร้อมทำงานไปด้วยแบบนี้อาจกลายมาเป็นการเที่ยวแบบอยู่ถาวรมากขึ้น ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่พักต่าง ๆ อาจใส่เงื่อนไขเสริม เช่น ตัวเลือกให้บริการทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉิน ประกัน สถานดูแลผู้สูงอายุ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับสัตว์เลี้ยงในระหว่างเข้าพักไปในระบบการจองห้องพักด้วย
เรื่องราวเทรนด์มาใหม่นี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและบริการในช่วงที่เพิ่งกลับมาเปิดประเทศกันครับ และยังช่วยให้สามารถหาลูกค้าได้สบาย ๆ เพียงแค่จับกระแสให้ถูกโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เริ่มนิยมเทรนด์เที่ยวไปด้วย ทำงานไปด้วยกันมากขึ้น และแม้ว่าวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ดูท่าจะไม่จบได้ง่าย ๆ แต่เราก็ยังคงต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในปีก่อน ๆ วางแผนการตลาดให้ดี และปรับตัวกันไปตามสถานการณ์จึงจะอยู่รอดไปได้ เหมือนที่ Cotactic ปรับตัวตามความต้องการและสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ
——————————————————————–
ร่วมงานกับทีม Cotactic Digital Marketing Agency หนึ่งใน Digital Marketing ชั้นนำของเมืองไทย ที่จะช่วยให้คุณตอบโจทย์การหาลูกค้าให้คุณได้ตามเป้าหมายแบรนด์ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Brand Awareness หรือ Lead Generation ก็ทำได้หมด ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญกับทีมรับทำเว็บไซต์ WordPress จาก Cotactic เพื่อให้เราเป็น Collaborative Marketing Partner ทำงานเป็นทีมร่วมกันกับคุณ
——————————————————————–
ติดต่อ
โทร.065-095-9544
Inbox: https://m.me/cotactic
Line@: https://line.me/R/ti/p/@cotactic
ขอขอบคุณข้อมูล
https://dutchuncles.in/discover/workation-ushering-the-revival-of-travel-and-hospitality-industry/
https://www.holidu.co.uk/magazine/the-best-cities-for-a-workation
https://www.getrodeo.io/blog/what-is-a-workation/#Who-is-a-workation-suitable-for
https://tourismteacher.com/workation/#1-the-growth-in-popularity-of-workations
https://www.4hoteliers.com/features/article/14112