ในช่วงต้นของการวางกลยุทธ์แบรนด์ สิ่งที่เจ้าของธุรกิจจะขาดไม่ได้เลยก็คือการวิเคราะห์หาตำแหน่งที่เหมาะสมของแบรนด์ เพื่อจะเฉิดฉายในตลาดท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งการกำหนด Brand Positioning หรือการวางตำแหน่งแบรนด์ด้วยความใส่ใจนั้นจะส่งผลดีต่อธุรกิจและการตลาด สามารถนำไปวางกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ทำให้แบรนด์แสดงบุคลิกสะท้อนตัวตนได้อย่างไม่เฝือและไม่ฝืน ไม่ต้องพยายามจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของทุกคน เพราะความสะเปะสะปะหรือสับสนในตัวเองนั้นจะทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นในแบรนด์ของคุณได้
Brand Positioning คือ
ความหมายตามบัญญัติศัพท์ในพจนานุกรม Cambridge ระบุว่า คือ การกำหนดจุดยืนแบรนด์ก่อนที่บริษัทจะนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการเข้าสู่ท้องตลาด เพื่อสร้างความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งรายอื่น โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องตั้งแต่การกำหนดราคา กระบวนการผลิต ความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่ายและการจัดส่ง กลยุทธ์การสื่อสารการตลาด การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดภาพจำ คอยคำนึงถึงก่อนตัดสินใจจัดวางองค์ประกอบของปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น
ส่วนคำนิยามจากหนังสือ ‘Positioning: The Battle for Your Mind’ เขียนโดย Al Ries และ Jack Trout มีใจความว่า การจัดวางตำแหน่งแบรนด์เปรียบเสมือนการแย่งชิงพื้นที่ในใจลูกค้า ผ่านการออกแบบการสื่อสารการตลาดอย่างมีเอกลักษณ์ ทรงพลังมากพอจะสร้างภาพจำตั้งแต่ครั้งแรกที่สื่อสารคุณค่าของแบรนด์ออกไป สะท้อนผ่านภาพลักษณ์และตัวตนของแบรนด์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความรู้ และประสบการณ์ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย จนสามารถสร้างความแตกต่างไปจากคู่แข่งขันรายอื่น โดยอาศัยข้อมูลเชิงลึกประกอบการวางกลยุทธ์การตลาด เพื่อจับจุดขายพิชิตใจกลุ่มลูกค้าได้สำเร็จ จนกลายเป็นเจ้าตลาดในหมวดหมู่ของผลิตภัณฑ์และบริการนั้น ๆ ได้
4 ประเภทของ Brand Positioning
การวางตำแหน่งแบรนด์อาจพอจะแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ ดังนี้
1. การวางตำแหน่งแบรนด์ตามคุณลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์หรือบริการ (Functional Positioning)
มุ่งเน้นสร้างมูลค่าแบรนด์ผ่านการนำเสนอ USP (Uniqe Selling Point) เชิงคุณภาพ บอกกล่าวสรรพคุณ ผลวิจัยที่เป็นเครื่องยืนยันคุณสมบัติหรือสมรรถนะ ชี้ให้เห็นว่าแบรนด์สามารถช่วยกลุ่มลูกค้าแก้ปัญหานั้น ๆ ได้อย่างตอบโจทย์และตรงจุดกว่าใคร
2. การวางตำแหน่งแบรนด์เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Positioning)
มุ่งเน้นสร้างมูลค่าแบรนด์ผ่านการออกแบบการเล่าเรื่องด้วยภาพ เสียง ถ้อยคำ และข้อความ ที่ตั้งใจสื่อสารโดยซ่อนนัยยะสำคัญอย่างแนบเนียน ใช้ความคิดสร้างสรรรค์สื่อความหมายที่ทรงพลัง สะท้อนคุณค่าที่แบรนด์ยึดถือ ให้ผู้คนได้สัมผัสรับรู้ถึงแบรนด์ผ่านอารมณ์ความรู้สึก
3. การวางตำแหน่งแบรนด์ผ่านประสบการณ์ (Experiential Positioning)
มุ่งเน้นสร้างมูลค่าแบรนด์ผ่านการออกแบบการส่งมอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครให้แก่ลูกค้าแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยสามารถสร้างความประทับใจตลอด Customer Journey ในแต่ละเส้นทางการซื้อ หรือการสื่อสารกับลูกค้าในทุกจุด Touchpoint แบบ Multi-channel
4. การวางตำแหน่งแบรนด์ให้แตกต่างจากเจ้าตลาด (Competitive Positioning)
มุ่งเน้นสร้างมูลค่าแบรนด์ผ่านข้อเสนอที่แตกต่างไปจากเจ้าครองตลาดที่เป็นคู่แข่งของแบรนด์ทางตรง ในฐานะที่ยังเป็นแบรนด์อันดับรองลงมา เข้าสู่ตลาดมาทีหลัง ก็อาจวางกลยุทธ์ธุรกิจและการตลาดให้ล้อไปกับคู่แข่ง หรือหาทางอุดช่องว่างในตลาด เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค
ส่วนประกอบสร้าง Brand Positioning ที่ช่วยทำให้ธุรกิจของคุณแข็งแกร่ง
นักธุรกิจและผู้ประกอบการอาจเริ่มจากการตอบคำถามระหว่างกระบวนการวางตำแหน่งแบรนด์ และถอดองค์ประกอบทั้ง 6 ด้าน ต่อไปนี้
- แบรนด์ของคุณสร้างมาเพื่อสนองตอบสิ่งใด ด้วยแนวคิดแบบไหน และสร้างคุณประโยชน์อะไรให้แก่ผู้คนบนโลกนี้บ้าง
- แบรนด์ของคุณสร้างมาเพื่อใคร บุคคลเหล่านั้นมีพื้นเพ วิถีชีวิต แนวคิด ความสนใจ ความชื่นชอบ หรือมีพฤติกรรมและความต้องการเชิงลึกแบบไหน
- เส้นทางการตัดสินใจซื้อของลูกค้าของคุณจะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อใดบ้าง
- คู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อมของแบรนด์คือใคร
1. กำหนดอัตลักษณ์แบรนด์
คุณจะต้องรู้จักตนเองเป็นอย่างดีที่สุด แบรนด์ไม่ควรกลายเป็นอะไร รู้ว่าสิ่งไหนไม่ใช่ตัวตนของแบรนด์ และแบรนด์ของคุณควรเป็นตัวแทนของคนกลุ่มไหน เรื่องใดที่แบรนด์ของคุณควรหรือไม่ควรเข้าร่วม เพื่อไม่ให้แบรนด์สื่อสารออกไปอย่างสะเปะสะปะ
เพราะทุกการตัดสินใจก้าวเล็ก ๆ ก็นับเป็นหมากสำคัญเสมอ คุณอาจพลิกสถานการณ์ให้ดีหรือเลวร้ายลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับความถ่องแท้และแม่นยำในปรัชญาของแบรนด์คุณ ที่โดยมากอาจระบุแก่นแท้ออกมาเป็นกลุ่มคำ วลีติดปาก หรือประโยคสั้น ๆ เป็นสโลแกนที่กระชับ เข้าใจง่าย เพื่อจะสื่อสารสิ่งที่แบรนด์เลือกจะโฟกัสให้ความสำคัญ
ส่งผ่านธีมนี้สะท้อนออกมาเป็นบุคลิกลักษณะและน้ำเสียงของแบรนด์ เพื่อจะเป็นเข็มทิศให้นักสื่อสารการตลาดนำไปส่งต่อถึงลูกค้าได้อย่างลึกซึ้งกินใจ และมีความจริงใจในการนำเสนอให้ตรงตามสไตล์และความเชื่อของแบรนด์ได้อย่างคมคาย
2. ชูจุดเด่น
คัดเลือกคุณสมบัติหรือความสามารถเด่น นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เป็นจุดขาย ตอบสนองวัตถุประสงค์ แก้จุด Pain Point เพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบปัญหาแบบไหน แล้วนำมาลดทอนความซับซ้อน ก่อนจะสื่อสารผลิตภัณฑ์และบริการของแบรนด์คุณให้ผู้คนเข้าใจโดยง่าย
3. สำรวจคู่แข่ง
ยังไงเสีย รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ศาสตร์จากตำราพิชัยสงครามซุนวูก็ยังคงใช้ได้ดีเสมอ ในเมื่อได้ลงสู่สนามธุรกิจแล้ว คุณจำเป็นต้องสอดส่องแบรนด์ที่อยู่ร่วมตลาดเดียวกันกับคุณ โดยไม่ต้องตื่นกลัวหรือตั้งแง่เป็นศัตรูไปเสียหมด แค่เพียงติดตามสถานการณ์ความเป็นไปเพื่อจะเรียนรู้และหาทางพัฒนาแบรนด์คุณไปสู่จุดหมายในแบบของคุณเองให้ดีขึ้น
ความไม่ประมาทจะทำให้คุณไม่ตกอยู่ในความเสี่ยง ที่อาจเป็นจุดเสียเปรียบ ถ้าคุณยังศึกษาคู่แข่งในตลาดได้ไม่ถ่องแท้ คุณอาจวางกลยุทธ์ธุรกิจและการตลาดผิดพลาดได้ แม้ว่าคุณจะรู้สึกว่าไม่มีใครเป็นคู่แข่งของคุณเลยก็ตาม แต่คุณก็ยังต้องศึกษาตลาดในมุมอื่น ๆ ให้ดี เพื่อจะเข้าใจผู้คนที่จะกลายมาเป็นลูกค้าของคุณในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น หรือหาทางโน้มน้าวใจลูกค้าของคู่แข่งให้หันมาอุดหนุนผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณแทน รวมถึงคอยรักษาฐานลูกค้าดั้งเดิมของคุณไม่ให้หนีหาย หรือตีจากไปหาแบรนด์อื่น
4. สร้างความแตกต่าง
Differentiate or Die หากคุณไม่อาจฉีกตำรา สร้างผลลัพธ์หรือสร้างแรงปรารถนาที่แตกต่างไปจากคู่แข่งรายอื่นของคุณได้ นั่นเท่ากับว่าแบรนด์ของคุณได้จมหาย หรือตายไปจากใจของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว เพียงคุณมีข้อแตกต่างและขยี้สิ่งที่มีอยู่ให้เป็น คุณจะหาทางสื่อสารเจาะความต้องการของกลุ่มคนที่พร้อมจะอินไปกับแบรนด์ของคุณได้เอง
5. ประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
มองหาช่องว่างในตลาด มองเห็นความต้องการ เพื่อเปิดเส้นทางความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ซึ่งยังมีแค่แบรนด์ของคุณที่ทำถึง คู่แข่งทำตามได้ยาก หรือทำตามคุณไม่ทัน คุณต้องสร้างความเป็นผู้นำตลาดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยนำข้อมูลเชิงลึกมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เจาะตลาดกลุ่มเดิมหรือกลุ่มใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าและคาดหวังผลกำไรขึ้นอีกเท่าตัว ส่งผลให้ธุรกิจคุณเติบโต สามารถเพิ่มเงินหมุนเวียนในธุรกิจของคุณได้
6. สร้างแบรนด์ที่น่าจดจำ
หมั่นสร้าง Brand Awareness สื่อสารการตลาดออกไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้คนจดจำแบรนด์ได้ ใส่ความหมายและความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างกระแสบอกต่อ โดยเจ้าของธุรกิจและนักการตลาดจะพิจารณาเลือกใช้กลยุทธ์สื่อสารการตลาดในรูปแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับช่องทางที่ลูกค้าใช้ติดตามข่าวสาร อัปเดตชีวิตประจำวัน หรือเป็นจุดแวะพักสายตา แวะซื้อสินค้า จุดศูนย์กลางการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็น Traffic ในช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าพบเห็นแบรนด์ของคุณอย่างกว้างขวาง
ตัวอย่าง Brand Positioning
Cotactic ขอยกตัวอย่างการวางตำแหน่งแบรนด์ของแบรนด์ระดับโลก 4 แบรนด์ ที่มีความโดดเด่นชัดเจนในการสร้างตัวตนแบรนด์อย่างมีจุดยืน จนเข้าไปอยู่ในใจคุณโดยไม่รู้ตัว
1. Apple
สื่อสารแบรนด์ผ่านสโลแกน “Think Different” นำเสนอแบรนด์เป็นตัวแทนของความใหม่ นำสมัย และเรียบหรู เริ่มต้นสร้างผลิตภัณฑ์เอาใจคนในวงการครีเอทีฟและดีไซน์เนอร์ มีอัตลักษณ์ของคนคูล ฮิป ขบถ กล้าสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ ให้ความใส่ใจเรื่องงานออกแบบประสบการณ์ (UX/UI) ที่ง่ายต่อผู้ใช้ (User-friendly) จนสามารถสร้างความต้องการใหม่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ไม่เคยมีใครเคยนำเสนอมาก่อน
Apple กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างความหลงใหลคลั่งไคล้ พาให้ผู้ใช้ทั้งโลกเกิดความต้องการที่จะก้าวกระโดดไปสู่สิ่งใหม่ที่ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นและสนุกขึ้น อย่างที่ iPhone ได้เปลี่ยนภาพของโทรศัพท์มือถือจากยุคก่อน ผลัดเปลี่ยนยุคสมัยเป็น Smart Phone นับเป็นบทบาทที่สร้างจุดเปลี่ยนของพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งโลกไปตลอดกาล ทำให้เกิดแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มมากมายตามมา
2. McDonald
McDonald ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีสาขาทั่วโลก สะท้อนจุดยืนแบรนด์ผ่าน
- Logo สัญลักษณ์ Golden Arches คล้ายรูปตัว M สีเหลืองที่เป็นภาพจำ
- ใช้สโลแกน “I’m Lovin’ It” สะท้อนถึงเมนูอาหารอิ่มอร่อยที่เป็นที่ชื่นชอบ ผ่านรสชาติที่คุ้นเคยและบรรยากาศการตกแต่งร้านที่เป็นมิตร ได้มาตรฐานในทุกสาขาทั่วโลก
- ตั้งชื่อเมนูอาหารขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วยคำว่า Mc เสมอ เพื่อเน้นย้ำชื่อแบรนด์
- เลือกเจาะหลายกลุ่มเป้าหมายตามโจทย์ชีวิตประจำวัน
- กลุ่มครอบครัว เชื่อมโยงความสุขของทุกคนในครอบครัวผ่านชุดอาหาร Happy Meal ที่มักมาพร้อมของเล่นของสะสมที่พ่วงความสนุกให้เด็ก ๆ
- นักเดินทาง ที่ต้องการจุดแวะพักระหว่างทาง มักเพิ่มเมนูอาหารแปลกใหม่ที่มีส่วนผสมรสชาติ Fusion Food ระหว่างวัฒนธรรมอาหารอเมริกันกับอาหารท้องถิ่นของแต่ละมุมโลก
- คนตื่นเช้า/คนนอนดึก เปิดให้บริการเช้ากว่าร้านอื่น มีเมนูอาหารเช้าพิเศษ และเมนูคนนอนดึก ให้สอดคล้องกับแต่ละย่านชุมชน
- คนทำงาน ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบเพื่อเข้างานให้ทันเวลา ใครขับรถก็มีช่อง Drive-through ให้บริการ Grab & Go ไม่ต้องเสียเวลาหาที่จอดและลงจากรถ
3. IKEA
IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดนสะท้อนจุดยืนแบรนด์ผ่าน
- ยึดมั่นใน Democratic Design ปรัชญาการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ดี ในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ ด้วยจุดมุ่งหมาย “To create a better everyday life for the many people.” มุ่งหวังจะสร้างชีวิตที่ดีขึ้นในทุกวันสำหรับผู้คน
- ภาพแบรนด์สะท้อนผ่านผลงานดีไซน์ที่เรียบง่าย โปร่งสบายตา มีสไตล์กลาง ๆ ที่แมชเข้ากับแต่ละบ้านได้ไม่ยาก มาพร้อมฟังก์ชันที่ถอดประกอบเพื่อจัดเก็บและเคลื่อนย้ายไปจัดวางใหม่ได้ง่าย ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่โตเทอะทะ เป็นที่ถูกใจของคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบความมินิมอล
- แบรนด์มอบประสบการณ์ระหว่างทางตั้งแต่การออกแบบเส้นทางการเดินเข้าชมเฟอร์นิเจอร์ภายในร้าน ให้ลูกค้าบริการตนเองได้ในทุกขั้นตอนโดยไม่ต้องพึ่งพาพนักงาน จึงได้รับให้ความเป็นส่วนตัวสูง ไม่เกิดการรบกวนจากพนักงานระหว่างการตัดสินใจซื้อ จนถึงการเลือกสินค้าเองกับมือที่โกดังสินค้า พลิกเลือกชิ้นส่วนได้จนกว่าจะพอใจ มีจุดนั่งพักเหนื่อยกินอาหารสวีดิชและจิบเครื่องดื่ม ก่อนกลับไปประกอบเฟอร์นิเจอร์อย่างง่ายด้วยตนเอง (Do-it-yourself experience) ด้วยความภาคภูมิใจ
4. Nike
Nike แบรนด์เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์เสริมกีฬาที่สะท้อนจุดยืนแบรนด์ผ่าน
- สโลแกน “Just do it” ประโยคเด็ดที่คมคาย ประหนึ่งปรัชญาชีวิต ทำให้ถ้อยคำนี้มีพลังในตัวเอง ที่ทำให้ครีเอทีฟโฆษณาสามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์แคมเปญที่ตราตรึงใจมากมาย ส่งมอบแรงบันดาลใจให้ผู้ชมลุกขึ้นมาลงมือทำ โดยไม่ต้องมีข้ออ้าง ค่อย ๆ พิสูจน์ตนเองวันละเล็กละน้อยจนกว่าจะไร้ข้อกังขา
- สร้าง Branding ที่แข็งแรงผ่านสัญลักษณ์นำโชค Nike Swoosh Logo ตัวแทนเทพีแห่งชัยชนะตามตำนานกรีก ซึ่งมีรูปทรงคล้ายเครื่องหมายถูก รวมถึงงานออกแบบดีไซน์การตัดเย็บที่เรียบเท่ จนกลายเป็นแบรนด์แฟชันที่เหล่า Celebrity นิยมสวมใส่
- มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมระดับที่จะชนะใจนักกีฬามืออาชีพในแต่ละประเภทกีฬา เช่น ออกแบบพื้นรองเท้าทรงวาฟเฟิล ที่ยืดหยุ่นและยึดเกาะพื้นสูง ช่วยรองรับแรงกระแทก ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ตัวผู้เล่น เป็นต้น
[วิดีโอประกอบ] How Close We’ve Come to Nuclear War
ความแข็งแกร่งของแบรนด์จะเกิดขึ้นได้หากแบรนด์ของคุณมีจุดยืนที่ชัดเจน แล้วคุณจะวางบทบาทแบรนด์ได้ถูกที่ถูกทาง รู้ว่าสิ่งไหนที่แบรนด์ควรหรือไม่ควรทำ เพื่อไม่สร้างความสับสนให้แก่ลูกค้า
สรุป
เจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ หรือผู้บริหารธุรกิจจะต้องตั้งต้นด้วย 3 คำถามสำคัญต่อไปนี้ เพื่อทบทวนจุดยืนของแบรนด์ได้อย่างเหมาะสม กำหนด Brand Positioning ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของตลาดและอุตสาหกรรมของคุณ
1. ผลิตภัณฑ์และบริการของคุณตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณดีเพียงพอแล้วหรือยัง?
ก่อนสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการออกวางจำหน่ายจริง ควรจะทดสอบความสนใจและตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณจริง ๆ เสียก่อน เพื่อจะนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้คุณเลือกลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ตรงความต้องการของตลาดมากที่สุดก่อน ค่อยเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการ
2. ผลิตภัณฑ์และบริการของคุณมีจุดขายที่โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งในท้องตลาดตรงไหนบ้าง?
แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่แบรนด์ของคุณจะไม่มีคู่แข่งในตลาดเลย แม้แต่นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดก็ยังมีคู่แข่งที่อาจโผล่ขึ้นมาไล่หลังคุณเมื่อไหร่ก็ได้ หรืออาจยังมีน้อยรายอยู่เท่านั้น
จึงจำเป็นอย่างมากที่คุณจะต้องยอมรับความจริง เปิดตาเปิดใจสำรวจตลาดให้ดี ๆ ศึกษามองหาความเป็นไปได้ เห็นความยากง่ายของการพิชิตตลาดนั้น ๆ เพื่อเตรียมตัวลงแข่งขันทางธุรกิจโดยไม่เกิดความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น สามารถทำกำไรและปกป้องต้นทุนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจของคุณไว้ใช้ต่อสายป่านได้ยาวนาน และสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน
3. คุณสามารถพิสูจน์และสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ของคุณได้มากน้อยแค่ไหน?
ไม่เพียงแต่พูดปากเปล่า แต่แบรนด์ต้องพร้อมแสดงข้อเท็จจริง ที่ได้รับการรองรับทางวิทยาศาสตร์ มีหลักฐานยืนยันหรือบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญ การันตีโดยสถาบันที่น่าเชื่อถือ หรือประสบการณ์ที่สามารถระบุคุณสมบัติ สรรพคุณ หรือความสามารถชั้นสูงของคุณได้ ช่วยเพิ่มน้ำหนักความเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูลอ้างอิง ส่งผลดีต่อการนำเสนอภาพลักษณ์แบรนด์ และการส่งเสริมการขายให้น่าสนใจและน่าไว้วางใจ
ทำให้ผู้คนเชื่อถือจากสิ่งที่เห็นเป็นประจักษ์ หรือสร้างการรับรู้ที่ถ่ายทอดแบรนด์ไปในทิศทางเดียวกันได้ ยิ่งทำได้เข้าถึงผู้คนได้มากเท่าไหร่ ผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณก็จะได้รับการจดจำ ได้รับการยอมรับ และเพิ่มความน่าเชื่อถือมากขึ้นเท่านั้น
Cotactic ขอแสดงความยินดีด้วยหากคุณตอบได้ทั้งหมด หรือหากยังลังเลก็เป็นโอกาสที่คุณจะเสาะหาคำตอบก่อนดำเนินการในขั้นต่อ ๆ ไป และต้องแน่ใจด้วยว่าคำตอบของคุณไม่ใช่เพียงใช้ความรู้สึกมั่นใจที่เกิดจากความเชื่อของคุณเองล้วน ๆ จะให้ดีที่สุดคุณควรลงทุนสำรวจตลาดและทดสอบผลิตภัณฑ์และบริการของคุณกับผู้คนจริง ๆ เสียก่อน
สนใจปรึกษา Cotactic
Digital Marketing Agency ประสบการณ์กว่า 8 ปี ที่พร้อมจะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมวางแผนงานการตลาดดิจิทัลให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายของคุณ
ปลดล็อกศักยภาพแบรนด์ของคุณอย่างเข้าใจวัตถุประสงค์เบื้องลึก ช่วยคุณบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจขึ้นไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยีการตลาดดิจิทัลและกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ที่ใช่ พร้อมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะคอยสนับสนุนงานสื่อสารการตลาดออนไลน์ ให้คุณประหยัดเวลาและทรัพยากรภายในของคุณ เพิ่มผลลัพธ์ที่คุ้มค่าต่อทุกการลงทุนในโฆษณาออนไลน์
ติดต่อขอรับคำปรึกษาฟรีจาก COTACTIC ได้ก่อนตัดสินใจรับบริการ เพียงกรอกข้อมูลเพื่อให้เรารู้โจทย์ที่ท้าทายของคุณเบื้องต้น คลิกที่นี่ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 065 095 9544
Phone: 065-095-9544
Inbox: m.me/cotactic
Line: @cotactic
——————————————————————–
Sources:
- https://youtu.be/Y7iQgdkOUuk | https://covetedconsultant.com/jack-trout-talks-4-steps-to-strategic-positioning/
- https://youtu.be/CcYytwN9a6Y
- https://www.qualtrics.com/au/experience-management/brand/positioning/
- https://brandingstrategyinsider.com/brand-relevance-the-strategy-behind-mcdonalds-im-lovin-it/
- https://www.ikea.com/th/en/this-is-ikea/about-us/our-heritage-pubad29a981