ก่อนที่ธุรกิจคุณจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผู้ประกอบการจำเป็นต้องผ่านกระบวนการขบคิดร่วมกับทีมผู้บริหารในทุกแผนกอย่างรอบด้าน เพื่อเลือกหนทางที่จะมีโอกาสพุ่งทะยานไกลกว่าคู่แข่งขันรายอื่น และสามารถดำเนินกิจการต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้
Cotactic Media ขอแนะนำเครื่องมือช่วยคุณตั้งต้นค้นหาจุดมุ่งหมายปลายทางของแบรนด์คุณ ก่อนก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ซึ่งหากผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจคุ้นเคยกับกระบวนการเขียน Business Model Canvas ของบริษัทที่ปรึกษาและพัฒนาองค์กรเชิงกลยุทธ์อย่าง Strategyzer ก่อตั้งโดย Alex Osterwalder และ Yves Pigneur ผู้ร่วมเขียนหนังสือ Business Model Generation กันมาบ้างก็น่าจะทราบเป็นอย่างดีว่า กว่าจะตกผลึกกลยุทธ์ธุรกิจลงในกระดาษเพียงแผ่นเดียวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
Digital Transformation Canvas คือ
เครื่องมือสำหรับนักกลยุทธ์ที่ออกแบบมาเป็นตาราง 9 ช่อง ครอบคลุมทุกมิติสำคัญทางธุรกิจในแผ่นเดียว เพื่อช่วยผู้ประกอบการและทีมผู้บริหารแบรนด์มาล้อมวงตอบคำถามชุดเดียวกัน เพื่อหาข้อสรุปและทิศทางที่จะมุ่งไปยังอนาคตข้างหน้าด้วยกัน อย่างมีหลักการ ทำให้ไม่หลงไปในรายละเอียดระหว่างทาง หรือเผลอตกหล่นเงื่อนไข และความท้าทายในส่วนใดไป
คำอธิบายตาราง 9 ช่อง Digital Transformation Canvas
ก่อนจะลงรายละเอียดในตารางแต่ละช่อง เราต้องเข้าใจ 3 ส่วนหลัก ๆ ที่เป็นฐานคิดเบื้องหลังกันให้ดีเสียก่อน
ส่วนแรก
เป็นฐานตั้งหลักตระเตรียมตัวก่อนเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง
ช่องที่ 1: ประเมินสถานการณ์องค์กรก่อนเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจดิจิทัล (New Core Business)
ต้องตอบคำถามที่ลึกซึ้งให้ได้ว่า องค์กรของเราเป็นตัวแทนของใคร เป็นประโยชน์ต่อโลกนี้อย่างไร เพื่อจะกำหนดบทบาทของแบรนด์อย่างมีจุดยืนที่ชัดเจน ใช้ตัดสินใจได้ว่าฉันจะทำหรือไม่ทำอะไรในวันนี้และวันหน้า
ช่องที่ 2: ธุรกิจใหม่ส่งมอบคุณค่าใดให้แก่ลูกค้า (New Value Proposition)
- ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ของคุณแปลกใหม่และน่าทึ่งอย่างไรบ้าง
- ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ของคุณแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นอย่างไร
- ลูกค้าคาดหวังอะไรจากผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ของคุณบ้าง
- คุณจะตอบโจทย์ลูกค้าของคุณด้วยการแก้ปัญหาเรื่องไหนให้พวกเขาเพิ่มเติมได้บ้าง
ช่องที่ 3: ออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ (New Business Mode)
- ธุรกิจดิจิทัลของคุณมีรูปแบบการสร้างรายได้อย่างไรบ้าง
- ธุรกิจคุณมีช่องทางจัดจำหน่ายที่ช่วยเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ของคุณให้มากขึ้นกว่าเดิมอีกบ้างไหม
- คุณจะเลือกช่องทางสื่อสารกับลูกค้า หรือเพิ่มปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขาในแต่ละจุด Touchpoint ตลอดเส้นทาง Customer Journey ได้อย่างไรบ้าง
ส่วนที่สอง
เป็นฐานคัดสรรดิจิทัลเทคโนโลยี ระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ และนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงขององค์กร
ช่องที่ 4: ประเมินขีดความสามารถด้านดิจิทัลในปัจจุบัน (Existing Digital Capabilities)
- ธุรกิจคุณแต่เดิมมี Know-how ที่เป็นจุดแข็ง และเป็นที่ยอมรับสูงในด้านใดบ้าง
- ธุรกิจคุณในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีอะไรอยู่บ้าง
- บุคลากรของคุณมีทักษะความสามารถอะไรบ้าง และกำลังขยายศักยภาพให้ทันโลกดิจิทัลในเรื่องใดบ้าง
ช่องที่ 5: กำหนดขีดความสามารถใหม่ทางดิจิทัล (New Digital Capabilities)
- ธุรกิจคุณต้องการเทคโนโลยีอนาคตใดบ้าง เพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ช่วยดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว ทันความต้องการของผู้บริโภคยิ่งขึ้น สามารถทุ่นแรงงาน ช่วยประหยัดงบประมาณ และทรัพยากรในระยะยาวได้
- มีงานส่วนใหม่ที่บุคลากรของคุณยังขาดทักษะความรู้ใดที่ต้องอบรมและฝึกฝนประสบการณ์เพิ่มขึ้นบ้าง หรือต้องการผู้มีศักยภาพและความพร้อมเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจของคุณในส่วนไหนบ้าง
ช่องที่ 6: วางแผนเพิ่มขีดความสามารถใหม่ด้านดิจิทัล และคาดการณ์ข้อได้เปรียบในอนาคต (Digital Capability Initiative)
- หลังจากทำการวิเคราะห์ธุรกิจของคุณและลูกค้าของคุณเรียบร้อยแล้ว คุณพบข้อสังเกตที่น่าสนใจ และได้ข้อสรุปในเรื่องใดบ้างที่จะนำมาพัฒนาธุรกิจในอนาคต
- คุณตั้งเป้าหมายใหม่ทางธุรกิจ โดยวางทิศทางและแผนงานที่ชัดเจนไว้อย่างไรบ้าง
- เมื่อคุณมีเทคโนโลยีใหม่และบุคลากรที่เหมาะสมครบวงจรแล้ว คุณคิดว่าธุรกิจคุณจะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อะไรให้เกิดขึ้นบ้าง
ส่วนที่สาม
เป็นฐานของหลักการบริหารงานและสื่อสารกับบุคคลากรภายในองค์กรและเหล่าพันธมิตร
ช่องที่ 7: ออกแบบวัฒนธรรมองค์กรใหม่ (Organizational Transformation)
- ธุรกิจคุณมีจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในทุกมิติ
- คุณจะสื่อสารกับบุคลากรในองค์กรของคุณ ให้เข้าใจธุรกิจใหม่ เป้าหมายใหม่ และวิธีการใหม่ ให้เห็นภาพเดียวกันได้อย่างไร
- คุณจะสร้างแรงบันดาลใจให้บุคลากรของคุณรู้สึกมีคุณค่าต่อองค์กร และกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร
- ธุรกิจคุณสนับสนุนระบบการทำงานรูปแบบใหม่ในแต่ละแผนกอย่างไร และคุณจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานรูปแบบใหม่นั้นได้อย่างไร
- คุณต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากร จนสามารถปรับใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ช่องที่ 8: ปรับใช้แนวคิดและกลยุทธ์การดำเนินงานแบบ Agile (Agile Strategy and Planning)
- โครงสร้างในองค์กรคุณหน้าตาเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงให้ไม่ล่าช้าหรือเกิดการชะลอการตัดสินใจ ซึ่งเป็นเหตุให้ทั้งระบบติดขัดได้อย่างไร
- องค์กรคุณจะสามารถเพิ่มความยืดหยุ่น คล่องตัวสูง ลดความซับซ้อนของระบบคิดและระบบการทำงานได้อย่างไร
- องค์กรคุณตั้งกติกาที่มีความเป็นธรรมสูง มีวิธีสื่อสารเชื่อมโยงความเข้าใจให้สอดคล้องตรงกันอยู่เสมอ สามารถวัดผลประสิทธิภาพในทุกเรื่อง สร้างโฟลว์ที่ดีในระหว่างการทำงาน และประสานงานกันอย่างไร้รอยต่อได้ดีพอหรือยัง
- องค์กรคุณจะสามารถสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันภายในองค์กรได้อย่างไร
- ทุกคนในองค์กรสามารถยึดถือหัวใจเดียวกัน เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน แล้วนำวิธีคิดแบบ Agile มาสร้างระบบการทำงานใหม่ได้อย่างไร
- องค์กรคุณสนับสนุนให้แต่ละทีมมีทรัพยากรที่เพียงพอ และมีอำนาจการตัดสินใจได้เองหรือยัง ทำอย่างไรจะช่วยให้พวกเขารู้สึกเป็นเจ้าของงานโครงการนั้น ๆ อย่างแท้จริง ได้รับอิสระและพลังใจที่ไร้ขีดจำกัด จนสามารถสร้างโครงการของตนให้สำเร็จลุล่วงได้ โดยส่งผลดีถึงความสำเร็จในภาพรวมขององค์กรด้วย
- ธุรกิจคุณกล้าพอที่จะมอบโอกาส ให้พื้นที่ล้มลุก เรียนรู้ และยอมรับได้หากเกิดข้อผิดพลาดในงานทดลองสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ หรือไม่
ช่องที่ 9: สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการแบ่งปันความร่วมมือ ช่วยกระชับความสัมพันธ์ทั้งกับบุคคลภายในและภายนอกองค์กร (Building Collaborative Ecosystem)
- คุณจะสื่อสารกับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจอย่างไรให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจการในอนาคตขององค์กรคุณ โดยที่คุณจะเลือกบอกเลิกผู้ที่ไม่มีจุดยืนร่วมกันออกไปได้อย่างเด็ดขาด โดยไม่เกิดผลกระทบกับรายได้ทางธุรกิจ หรือกลับกลายเป็นศัตรูคู่แข่งของคุณได้หรือไม่ เพื่อที่คุณจะมีที่ว่างเปิดพื้นที่ไว้ต้อนรับคู่ค้ารายใหม่ที่ใช่กว่า เข้ามาแชร์ความรู้และทรัพยากรร่วมกัน
- คุณจะสื่อสารให้บุคลากรภายในกระชับความสัมพันธ์กับคู่ค้าและพันธมิตรที่ดีเยี่ยมและรักษาพวกเขาไว้อย่างเหนียวแน่นได้อย่างไร โดยสามารถโน้มน้าวใจให้พวกเขายินดีจะให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในโครงการหรือกิจกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตทางธุรกิจของกันและกัน
หลักการตั้งกลยุทธ์ Digital Transformation Strategy
จากการศึกษา Digital Transformation กว่า 4,862 โครงการ สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกว่า 2,590 คน ในงานวิจัยของศาสตราจารย์ Marc K Peter แห่งมหาวิทยาลัย FHNW School of Business ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ เขาได้ค้นพบหลักการวางกลยุทธ์ Digital Transformation ที่เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทั้ง 7 ด้าน เพื่อเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคดิจิทัล ดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1
วิเคราะห์ ทำความเข้าใจความพร้อมด้านดิจิทัลขององค์กร เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ได้
ขั้นที่ 2
ระดมสมอง ร่วมกันตั้งคำถามสำคัญระหว่างทำ Digital Transformation Canvas และหาข้อสรุปหลังจากร่วมทำเวิร์กช้อปร่วมกัน
ขั้นที่ 3
ตอบชุดคำถามด้วยโครงสร้าง ACT (Analyse วิเคราะห์สถานการณ์, Create ต้องทำอย่างไรในสถานการณ์นั้น, และ Transform จะเลือกหนทางปรับเปลี่ยนอย่างไร) หยิบยกแต่ละหัวข้อสำคัญให้ทีมนำมาขบคิดไปอีกขั้น เพื่อจะพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจดิจิทัลได้อย่างรอบด้าน
ขั้นที่ 4
วางแผนงาน ระบุวัตถุประสงค์ รายการที่ต้องทำ กำหนดขอบเขตของงานแต่ละส่วนให้ครบถ้วน ให้ทุกฝ่ายตกลงเห็นพ้องตรงกันก่อนนำมาใช้อย่างแข็งขัน
ขั้นที่ 5
เริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลง ทุกฝ่ายเริ่มลงมือดำเนินการตาม Roadmap ที่วางไว้
ขั้นที่ 6
ให้พื้นที่เรียนรู้ พัฒนาอบรมและโค้ชทีมให้เติบโตไปตามทิศทางใหม่ขององค์กร
ขั้นที่ 7
สร้างกระบวนการ Feedback แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทั้งสองมุมมอง ทุกคนในทีมสามารถเพิ่มข้อสังเกตที่พบเห็น เพื่อทบทวนว่าเรากำลังดำเนินงานตามลู่ทางที่กำหนดไว้อยู่หรือไม่
เกิดปัญหาอะไร จะแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร ชวนทำกระบวนการเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นเรื่องปกติขององค์กร จะเกิดการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่ความก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ
คุณสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสาร สรุปกระบวนการคิดกลยุทธ์และการเวิร์กช้อปตามแบบฉบับของศาสตราจารย์ Marc K Peter ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษได้ คลิกที่นี่
บทสรุป
3 ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหากแบรนด์ทำ Digital Transformation ได้สำเร็จ จนเกิดเป็น New Growth สร้างธุรกิจคุณให้เติบโตได้ดีแบบก้าวกระโดด
- New Efficiencies เพิ่มประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมในทุกด้าน
- New Customer Experiences ส่งมอบประสบการณ์ชั้นเลิศให้แก่ลูกค้า
- New Business Models ตอบโจทย์อนาคตด้วยธุรกิจรูปแบบใหม่
จากวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนจนถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาช่วยสนับสนุนงาน ทั้งในส่วนผลิตอย่างมีคุณภาพ เสถียร แม่นยำ รวดเร็ว ใช้ระบบคลาวด์จัดเก็บข้อมูลดิจิทัล ร่วมกับระบบจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเฉียบคม พร้อมพัฒนาเพิ่มทักษะบุคลากรและประสิทธิภาพการทำงาน สื่อสารการตลาดดิจิทัลเพื่ออยู่คู่กับลูกค้าเสมอในทุกที่ทุกเวลา สามารถส่งมอบคุณค่าและภาพลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ให้ลูกค้าจดจำได้ ปัจจัยทั้งหมดนี้จะช่วยให้ธุรกิจคุณรักษาข้อได้เปรียบและยืนระยะในตลาดไปได้อีกนาน
สนใจปรึกษา Cotactic
Digital Marketing Agency ประสบการณ์กว่า 8 ปี ที่พร้อมจะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมวางแผนงานการตลาดดิจิทัลให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายของคุณ
ปลดล็อกศักยภาพแบรนด์ของคุณอย่างเข้าใจวัตถุประสงค์เบื้องลึก ช่วยคุณบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจขึ้นไปอีกขั้นด้วยเทคโนโลยีการตลาดดิจิทัลและกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ที่ใช่ พร้อมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะคอยสนับสนุนงานสื่อสารการตลาดออนไลน์ ให้คุณประหยัดเวลาและทรัพยากรภายในของคุณ เพิ่มผลลัพธ์ที่คุ้มค่าต่อทุกการลงทุนในโฆษณาออนไลน์
ติดต่อขอรับคำปรึกษาฟรีจาก COTACTIC ได้ก่อนตัดสินใจรับบริการ เพียงกรอกข้อมูลเพื่อให้เรารู้โจทย์ที่ท้าทายของคุณในเบื้องต้น คลิกที่นี่ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 065 095 9544
ขอบคุณข้อมูลจาก: