หากคุณคิดจะทำการค้า แน่นอนว่าต้องมี “คู่แข่ง” เพราะแม้สินค้าที่วนเวียนอยู่ในตลาดจะมีจำนวนมากเพียงใด แต่สินค้าหรือบริการที่คุณคิดจะขายย่อมมีโอกาสซ้ำกับใครสักคนอยู่ดี และสิ่งเดียวที่จะสร้างความแตกต่างระหว่างคุณกับคนอื่นได้ ก็คือ การสร้างแบรนด์ (Branding) นั่นเอง Cotactic บริษัทรับทำการตลาดออนไลน์จึงรวบรวม 7 ขั้นตอนการสร้างแบรนด์ ที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของธุรกิจทุกท่านมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการเริ่มประกอบธุรกิจให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีต่อไป
การสร้างแบรนด์ (Branding) คืออะไร?
แบรนด์ (Brand) คือ แนวคิดหรืออุดมคติที่แสดงถึงองค์กร ผลิตภัณฑ์ และบริการขององค์กรนั้น โดยสามารถถ่ายทอดพันธกิจและภาพลักษณ์ผ่านชุดข้อความที่กำหนดได้ ส่วนการสร้างแบรนด์ (Branding) คือ การสื่อสารเอกลักษณ์ของแบรนด์ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ จนเกิดเป็นภาพจำให้กับผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นจนเกิด Conversion หรือการตัดสินใจซื้อในที่สุด
การสร้างแบรนด์ (Branding) มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร?
“แล้วการสร้างแบรนด์จำเป็นแค่ไหน?” คุณอาจคิดว่าไม่ – เพราะที่สุดแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือยอดขาย แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อมีเพียงไม่กี่ปัจจัย บ่อยครั้งที่ผู้คนตัดสินใจซื้อเพราะเชื่อมั่นในคุณภาพของแบรนด์ หรือแม้แต่เพียง “เคยได้ยินชื่อเสียง” เท่านั้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมาจากการปฏิบัติตามขั้นตอนการสร้างแบรนด์ทั้งสิ้น โดยเราสามารถสรุปประโยชน์ของการสร้างแบรนด์ได้ ดังนี้
1. เพิ่มความน่าเชื่อถือ
การมีตัวตนของบริษัท คือสิ่งที่ลูกค้าส่วนมากมองหา ยิ่งบริษัทใดสร้างแบรนด์ได้แข็งแกร่ง เป็นที่รู้จักสำหรับคนหมู่มาก ยิ่งทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัย อย่างน้อย ๆ หากพบว่าสินค้าหรือบริการมีปัญหาก็รู้พิกัดที่จะส่งคำร้องเรียนได้ และเพราะเหตุนี้เอง จึงมีลูกค้าที่ยอมจ่ายแพงกว่าในการเลือกซื้อสินค้าที่มีแบรนด์ เพื่อแลกกับความเสี่ยงที่อาจโดนหลอกลวง
2. สร้างฐานลูกค้าประจำ
เมื่อแบรนด์เป็นที่รู้จักระดับหนึ่งแล้ว ผู้คนที่รู้สึกว่าสิ่งที่แบรนด์สื่อสารตรงกับความต้องการของตัวเองก็จะผันตัวมาเป็นลูกค้าประจำ เมื่อมีฐานลูกค้าที่มั่นคง แบรนด์ของคุณก็จะทำการตลาดได้ง่ายกว่าแบรนด์อื่น ๆ และสามารถคาดการณ์แนวโน้มของยอดขายในแต่ละไตรมาสได้
3. กระตุ้นการบอกต่อแบบ “ปากต่อปาก”
ลูกค้าที่ประทับใจในคุณภาพของแบรนด์ ย่อมต้องแนะนำคนใกล้ตัว เช่น เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน และครอบครัว คุณอาจไม่เชื่อ! แต่อานุภาพของวลี “ของดีต้องบอกต่อ” ทรงพลังและทำให้แบรนด์เก่าแก่หลาย ๆ แบรนด์ยังคงดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน
4. ปูทางเพื่อดำเนินธุรกิจในระยะยาว
สำหรับแบรนด์ที่ติดตลาดจนเป็นที่รู้จักแล้ว หนทางข้างหน้าย่อมราบรื่นกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีชื่อเรียก ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณต้องการขายสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์เดิม ก็จะสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เพราะในความรู้สึกของลูกค้า ชื่อของแบรนด์ที่คนรู้จักดีจะการันตีคุณภาพ และน่าเชื่อถือมากกว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั่วไป
ความสำคัญของ Brand Marketing
โดยสรุปแล้ว การสร้างแบรนด์ (Branding) ก็คือการทำความเข้าใจและสื่อสารออกไปว่า “ตัวตนของคุณคือใคร? และต้องการนำเสนออะไร?” ซึ่งตัวช่วยที่จะทำให้กระบวนการนี้สัมฤทธิ์ผลได้ คือความรู้เรื่อง การตลาดแบรนด์ หรือ Brand Marketing
Brand Marketing คือ กระบวนการในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภค ผ่านการใช้ช่องทางการตลาดต่าง ๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ ป้ายโฆษณา (Print Ads) ป้ายบิลบอร์ด หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ ฯลฯ เพื่อสื่อสารสิ่งที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ และทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงแบรนด์ ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงของกระบวนการนี้ ก็คือการสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์และบริษัทผู้ผลิตนั่นเอง
การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น บริษัทรถเช่า การสร้างแบรนด์ที่สื่อถึงความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย และความสะดวกสบาย จะช่วยดึงดูดลูกค้าให้เลือกใช้บริการ และสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาวได้
“Branding is who you are – Marketing is how you build awareness./outbrain”
รู้จักกับ Brand Marketing ให้มากขึ้น >> คลิกที่นี่ <<
ขั้นตอนการสร้างแบรนด์ ให้เป็นที่จดจำสำหรับผู้บริโภค
เพื่อให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จัก และกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญของผู้บริโภค Cotactic ขอนำเสนอ 7 ขั้นตอนการสร้างแบรนด์ที่คุณสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ ดังนี้
1. ศึกษาคู่แข่งของแบรนด์
“รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” – คำกล่าวนี้ยังคงใช้ได้เสมอและเป็นอนันต์ การทำธุรกิจก็เช่นกัน ก่อนวางแผนเรื่องทิศทางการนำเสนอแบรนด์ อย่าลืมศึกษาทิศทางของคู่แข่งที่ขายสินค้าและบริการประเภทเดียวกันก่อน เพื่อที่คุณจะทราบว่า สิ่งใดควรทำให้คล้าย หรือสิ่งใดควรทำให้แตกต่าง รวมถึงเก็บข้อมูลเรื่องจุดแข็งและจุดอ่อนของแบรนด์คู่แข่ง เพื่อนำมาคิดกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ของคุณเองให้โดดเด่น
2. เก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย
ลองสำรวจดูว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร โดยอาจวิเคราะห์จากกลุ่มลูกค้าของธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการประเภทเดียวกัน จากนั้นลองทำตารางขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบข้อมูล แล้ววิเคราะห์ว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร อายุเท่าไหร่ อาศัยอยู่ในพื้นที่ไหน และมีวิถีชีวิตอย่างไร เพื่อวิเคราะห์ต่อไปว่าควรวางกลยุทธ์ในการสื่อสารอย่างไร และสื่อสารผ่านช่องทางไหนดี
3. ออกแบบบุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Personality)
ขั้นตอนการสร้างแบรนด์ขั้นต่อไป คือ การออกแบบบุคลิกภาพของแบรนด์ โดยเชื่อมโยงจุดเด่นของสินค้าและบริการ เข้ากับพันธกิจและสิ่งที่แบรนด์อยากจะนำเสนอ เคล็ดลับคือ ให้เปรียบแบรนด์ของคุณเป็นคนหนึ่งคน หากสร้างคนขึ้นมาใหม่ได้หนึ่งคน คุณอยากให้เขามีบุคลิกภาพแบบไหน สุภาพเรียบร้อย อ่อนโยน หรือผาดโผนชอบการผจญภัย และที่สำคัญ คุณอยากให้คนกลุ่มไหนรู้สึกชอบเขา และทำอย่างไรคนกลุ่มนั้นถึงจะเปิดใจให้กับเขาได้ในที่สุด
4. สร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity)
หลังจากกำหนดบุคลิกภาพของแบรนด์แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการทำภาพนั้นให้ประจักษ์ชัด ด้วยการนำเสนอ “อัตลักษณ์ของแบรนด์” ผ่านการออกแบบโลโก้ สี และรูปแบบตัวอักษร เพื่อให้คนจดจำแบรนด์ของคุณ และเรียนรู้ว่าคุณแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร นอกจากนี้ อัตลักษณ์ของแบรนด์ยังสามารถถ่ายทอดผ่านสิ่งอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น น้ำเสียงของบอตหรือแอดมินเวลาโต้ตอบกับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ คอนเทนต์ที่นำเสนอบนช่องทางต่าง ๆ หรือบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ เป็นต้น
5. การสื่อสารกับผู้บริโภคโดยใช้ Brand Marketing
เมื่อเตรียมการทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเริ่มสื่อสารกับผู้บริโภค โดยวิเคราะห์จากเพศ วัย และพฤติกรรมการใช้งานของกลุ่มเป้าหมาย ก่อนตัดสินใจว่าจะสื่อสารกับพวกเขาผ่านทางช่องทางไหนได้บ้าง ตัวอย่างเช่น หากกลุ่มเป้าหมายของคุณคือคนอายุ 15 – 30 ปี คุณอาจเลือกทำคอนเทนต์ในหัวข้อที่พวกเขาสนใจ ลงบนสื่อ Social Media หรือเว็บไซต์ แทนการใช้กรอบข่าวในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น เพราะการมีเว็บไซต์ที่ดีและถูกออกแบบโดยบริษัทรับทำเว็บไซต์ WordPress อย่างมืออาชีพ สามารถส่งเสริม Brand Marketing ของคุณได้ แต่อย่างไรก็ตาม คุณอาจทดลองสร้างแคมเปญหลายแคมเปญขึ้นมา เพื่อทดลองใช้สื่อที่แตกต่างกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และรอดูตัวเลขทางสถิติว่ากลุ่มเป้าหมายใดเหมาะกับการโปรโมทผ่านช่องทางใด
6. ยืนหยัดในจุดยืนของแบรนด์ (Brand Positioning)
อีกหนึ่งขั้นตอนการสร้างแบรนด์ที่สำคัญ คือ การยืนหยัดในจุดยืนของแบรนด์ เพราะเมื่อลงสู่สนามการตลาดไปสักพัก คุณจะพบกระแสนิยมมากมาย ที่ชักนำให้แต่ละแบรนด์หันเหไปนำเสนอในสิ่งเดียวกัน ดังเช่น การทำคอนเทนต์แบบ Realtime Marketing ที่ได้รับความนิยมมากใน Social Media ซึ่งในบางช่วงเวลา คุณเองก็อาจใช้ประโยชน์จากคอนเทนต์ประเภทนี้ได้ แต่ต้องไม่ลืมเรื่องจุดยืนของแบรนด์ ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการสร้างแบรนด์อาหารสไตล์ Luxury ที่ยืนหนึ่งเหนือคู่แข่ง การทำคอนเทนต์อย่างไร้ทิศทาง บ้างก็เกี่ยวกับอาหาร บ้างก็เล่นกับกระแสสังคม แต่ขาดตัวตน ก็มีแนวโน้มว่าคุณจะไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ (Branding) เป็นต้น
7. ตรวจสอบและวัดผลคุณภาพตลอดเวลา
ขั้นตอนสุดท้าย คือ การหมั่นติดตามวัดผลตลอดเวลา เพื่อหาทางปรับปรุงและพัฒนาแนวทางให้สอดรับกับสถานการณ์อยู่เสมอ คุณอาจใช้เครื่องมือวัดผลต่าง ๆ เช่น Meta Business Suite, Google Analytics หรือจัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริโภคโดยตรง ไม่ว่าจะตรวจสอบด้วยวิธีใด ขอเพียงมุ่งเน้นความสม่ำเสมอ และการพร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เป็นสำคัญ
Brand Awareness และกรณีศึกษาเรื่อง ขั้นตอนการสร้างแบรนด์
ผลสัมฤทธิ์ของการสร้างแบรนด์ (Branding) วัดได้จากการที่ผู้บริโภครับรู้ถึงตัวตนของแบรนด์ (Brand Awareness) โดยผู้บริโภคสามารถจดจำโลโก้ของแบรนด์ จำแนกสินค้าที่เกี่ยวข้องและแตกต่างกับแบรนด์ได้ และที่สำคัญ คือความเชื่อมั่นและระลึกถึงแบรนด์ก่อนสินค้าใด ๆ ซึ่งธุรกิจจะสร้าง Brand Awareness สำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และแผนการตลาดที่คุณใช้ เพื่อให้คุณเห็นภาพมากขึ้น เราขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาจาก 2 ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้อย่างงดงาม
-
MO-MO-PARADISE
ร้านชาบูสัญชาติญี่ปุ่นชื่อดัง ที่แม้จะมีเมนูให้เลือกน้อยและมีกฎระเบียบในการทานค่อนข้างมาก แต่ก็สามารถสร้างตัวตนจนทำให้ลูกค้าจดจำและเชื่อมั่นในตัวแบรนด์ ผ่านขั้นตอนการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและศึกษามาเป็นอย่างดี ซึ่งความโดดเด่นในเรื่อง Branding ของ MO-MO-PARADISE มีด้วยกัน 2 ประการใหญ่ ๆ ได้แก่
- การยืนหยัดในจุดยืน (Brand Positioning) – MO-MO-PARADISE ยืนหยัดที่จะนำเสนอวิธีการรับประทานแบบดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด
- บุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Personality) – MO-MO-PARADISE นำเสนอแบรนด์ในลักษณะของคนรุ่นใหม่ที่จริงใจ เข้าถึงง่าย และค่อนข้างตามทันกระแสสังคม โดยนำเสนอคอนเทนต์เสพง่าย พ่วงวลีเด็ดที่ฮิตติด Social Media เอาใจคนรุ่นใหม่
-
STARBUCKS
อีกหนึ่งแบรนด์ที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด คือ STARBUCKS แบรนด์ร้านกาแฟสัญชาติระดับโลก ที่ครองตลาดคาเฟ่ในไทยมานานกว่า 20 ปี ด้วยปรัชญาการสร้างแบรนด์ที่ปูแนวทางให้กับคาเฟ่เปิดใหม่ทั่วโลก “We’re in the people business serving coffee, not the coffee business serving people.”
ไม่เพียงโดดเด่นเรื่องจุดยืนของแบรนด์ (Brand Positioning) ที่มุ่งเน้นการเป็นร้านกาแฟที่ขายประสบการณ์และบรรยากาศไปพร้อม ๆ กับกาแฟคุณภาพเท่านั้น STARBUCKS ยังใช้กลยุทธ์ Brand Storytelling เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังของแบรนด์ ให้ผู้บริโภคมีอารมณ์ร่วม และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์อีกด้วย
ที่มา: 1000 logos
เพื่อให้แบรนด์ของคุณก้าวสู่เส้นชัย คุณอาจปรับเปลี่ยนขั้นตอนการสร้างแบรนด์เล็กน้อย เพื่อให้เข้ากับธุรกิจของคุณโดยเฉพาะได้ เพราะสิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญมากที่สุด คือคุรภาพของสินค้า และความจริงใจที่มีต่อผู้บริโภค เพื่อให้แบรนด์ของคุณคงอยู่ในใจของพวกเขาเรื่อยไป แม้จะมีสินค้าประเภทเดียวกันมาเป็นคู่แข่งทางการตลาดมากเพียงใดก็ตาม
หากคุณต้องการที่ปรึกษาการรับทำ SEO หรือทีมงานมืออาชีพด้านการทำ Online Marketing มาช่วยจัดการแก้ไขปัญหาและวางรากฐานให้ธุรกิจ ติดต่อ Cotactic เลยวันนี้
โทร.065-095-9544
Inbox: m.me/cotactic
Line: @cotactic
——————————————————————–
ขอบคุณข้อมูลจาก: